เสียงบรรยายธรรมของหลวงพ่อไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ (จัดทำโดยลูกศิษย์)
18 มิ.ย. 68 - เก็บเกี่ยวสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นทั้งวัน : การที่เราฝึกใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจของเรา เป็นบทเรียนที่ดี ถึงแม้อาจจะไม่เจอความสงบตลอด 7 วันที่มาปฏิบัติเลย แต่ว่าได้เรียนรู้ที่จะยอมรับหรือสร้างนิสัยใหม่ที่ยอมรับสิ่งที่ไม่ถูกใจได้ อันนี้เป็นบทเรียนล้ำค่ามาก เพราะความสงบที่เราได้จากการมาปฏิบัติที่วัด พอกลับไปบ้านหรือออกนอกวัด เข้าแก้งคร้อ ความสงบก็กระเจิงแล้วสำหรับหลายคน แต่นิสัยใหม่ที่ฟูมฟักขึ้นมา คือการรู้จักยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ภายในใจเรา มันจะเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก เพราะถ้าเราต่อยอด ฝึกให้เป็นนิสัย ยอมรับความจริงไม่ว่าที่เกิดขึ้นในใจหรือที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ก็จะทำให้เราพบความสงบในใจได้ไม่ยาก ไม่ใช่สงบเพราะว่าไม่มีความคิด แต่สงบเพราะว่าใจไม่มีอาการต่อต้านผลักไส ไม่มีความหงุดหงิดรำคาญต่อสิ่งที่เกิดขึ้น การยอมรับทำให้ใจสงบได้ อาจจะดีกว่าการที่ไม่มีเสียงดังมากระทบหู หรือไม่มีความคิดเกิดขึ้นมา ในใจ เพราะฉะนั้นลองสังเกตดู ระหว่างที่เราปฏิบัติ ไม่ว่าจะพบกับสิ่งที่ต้องการหรือไม่ แต่ว่ามันมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นกับเราตลอดทั้งวันและทุกวันด้วย อยู่ที่เราจะรู้จักมอง รู้จักเก็บเกี่ยวหรือเปล่า
17 มิ.ย. 68 - จิตไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม : สติเป็นเหมือนตาในที่คอยสอดส่องดู ไม่ปล่อยให้มันล่วงล้ำเข้ามารบกวนจิตใจ พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับทวารบาลหรือทหารยามเฝ้าประตูเมือง ไม่ปล่อยให้ศัตรูเข้ามาก่อความปั่นป่วนในเมือง เพราะฉะนั้นถึงแม้เรายังไม่มีปัญญาชนิดที่ว่าอะไรมากระทบแล้วใจไม่กระเทือน ไม่มีความโกรธ ไม่มีความโศก ไม่มีความเศร้า ปุถุชนอย่างเราก็ยังมีอารมณ์พวกนี้อยู่ แต่ก็ยังมีด่านสุดท้ายที่อารมณ์พวกนี้มาทำร้ายใจเราไม่ได้ คือมีสติเห็นมัน ฉะนั้นการที่เรามาฝึกใจให้เห็นความคิด อารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ โดยที่ไม่เข้าไปสู้รบตบมือกับมัน มันเป็นการศึกษา เป็นการพัฒนาจิตที่สำคัญ และถ้าเรามาพัฒนามาตรงจุดนี้ได้ ต่อไปการที่จะพัฒนาให้เกิดปัญญาจนกระทั่งเห็นความจริงของสิ่งทั้งปวง ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งใด เจออนิฏฐารมณ์ หรือเจอโลกธรรมฝ่ายลบ จิตก็ไม่หวั่นไหว ใจก็ไม่กระเพื่อม ยังคงเป็นปกติสุขอยู่ได้ สภาวะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นได้ แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นต้องมีสติที่ช่วยให้จิตปลอดภัยจากอารมณ์ต่าง ๆ แม้มันจะเกิดขึ้น เมื่อมีการกระทบแต่ว่าก็ทำร้ายจิตใจไม่ได้
16 มิ.ย. 68 - วิชาใหม่ที่เลื่อนขั้นจิตใจ : การเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียน มันไม่ยาก ไม่เรียกร้องอะไรจากเรา ไม่ได้เรียกร้องว่าต้องไม่มีความคิด ไม่ได้เรียกร้องว่าให้เราต้องรู้ทันไว ๆ แต่หลายคนคุ้นกับการบังคับจิต ก็พยายามที่จะทำอย่างนั้นกับจิตใจตัวเอง ไม่ให้อนุญาตให้ใจมีความคิด ไม่อนุญาตให้ใจมีอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ผุดขึ้นมา เพราะเห็นว่ามีแล้วใจไม่สงบ ที่จริง สงบหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีความคิดเกิดขึ้นหรือเปล่า มันอยู่ที่ว่าไปทำอะไรกับความคิดนั้นหรือเปล่า ถ้าแค่ดูมัน เห็นมัน มันมาแล้วก็ดับไป มาแล้วก็ดับไป มันก็ไม่ว้าวุ่น และนี่คือวิชาที่เราควรจะมาเรียนรู้ มันเป็นการเลื่อนชั้นในการฝึกจิต จากเดิม ใช้วิธีการกดข่ม อดทนอดกลั้น บังคับเคี่ยวเข็ญ หักห้ามกำกับ พวกนี้ดี มีประโยชน์ แต่ว่ามันไม่พอ แล้วมันก็นำมาใช้รับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ไม่ดีพอ เราก็ต้องมาเรียนวิชา รู้ซื่อ ๆ เรารู้ เราเห็น ไม่เข้าไปเป็น รู้แล้วก็วาง รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง อันนี้ไม่เหนื่อยเลย แต่ใหม่ ๆ หลายคนจะรู้สึกว่ามันยาก ที่ยากเพราะว่าไม่คุ้น ของง่ายถ้าไม่คุ้นก็เป็นเรื่องยากทั้งนั้น แต่พอทำจนคุ้นแล้วก็กลายเป็นเรื่องง่าย ก็ให้ลองเลื่อนชั้น ด้วยการฝึกวิธีที่เราไม่คุ้น แต่ว่าไม่ยาก นั่นคือการ รู้ซื่อ ๆ เห็นโดยไม่เข้าไปเป็น ไม่ผลักไสแล้วก็ไม่ไปไหลตามหรือกดข่มมัน
15 มิ.ย. 68 - ทุกข์เพราะใจ : ทุกวันนี้เราคิดแต่ว่าจะไปเปลี่ยนแปลงคนอื่น จะไปเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เพื่อเราจะได้มีความสุข ต้องการให้ทุกอย่างสมหวัง ทุกอย่างสมบูรณ์แบบเพื่อเราจะได้มีความสุข แต่ไม่มีทางสำเร็จ จะให้คนชม ก็มีแค่ 99% ที่ชมเราแต่ก็ยังมีอีก 1% ที่ยังตำหนิเรา กินอาหาร เจอดินฟ้าอากาศ เดินทางไปไหนก็เจอรถติด เจอฝนตก กินอาหารก็เจอรสชาติที่ไม่ถูกใจ แต่ที่จริงแล้วเป็นที่ใจเราต่างหาก พอปรับแก้ที่ใจ ความไม่สมหวังที่เกิดขึ้นรอบตัวมันก็เปลี่ยนไป ใจอาจรู้สึกเฉย ๆ หรืออาจจะรู้สึกดีด้วยซ้ำ ดีที่มันมาสอนเรา มาเตือนให้เราปรับแก้ที่ใจเรา การปฏิบัติธรรมช่วยให้เราเห็นตัวเอง แล้วก็รู้ว่าเหตุแห่งทุกข์หรือเหตุแห่งความสุขที่แท้จริงโดยเฉพาะทุกข์ใจสุขใจอยู่ที่ใจเรา ถ้ามองไม่เห็นตรงนี้และไม่คิดจะแก้ไขตรงนี้ก็หาความสุขได้ยาก เพราะว่าเราก็ต้องเจอกับความผันผวนปรวนแปร เจอกับอนิฏฐารมณ์อยู่เสมอ อนิฏฐารมณ์ก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ไม่น่าพอใจ หรือที่จริงแล้วก็หมายถึงความเสื่อมลาภเสื่อมยศ หรือว่าคำนินทา จะให้ทุกอย่างถูกใจเรามันไม่มี แต่ว่าถ้าปรับแก้ที่ใจเรา สามารถจะยอมรับทุกอย่างได้ ถูกด่าว่าก็หัวเราะได้ เพราะไม่ถือ เพราะรู้ว่าเป็นเช่นนั้นเอง ใครเขาจะมองด้วยสายตาเขม่นก็ไม่ทุกข์ เพราะไม่คาดหวัง ฉะนั้นต้องหันมาปรับแก้ที่ใจเรา ไม่อย่างนั้นก็หาความสุขในชีวิตหรือจากโลกนี้ได้อย่างยากมาก
14 มิ.ย. 68 - ฝึกใจรับมือความไม่สมหวัง : จะว่าไปก็มีน้อยคนที่จะต้องเจอชะตากรรมเล่นแรงแบบนี้ แต่ว่ามันก็อยู่ในวิสัยที่จะเกิดขึ้นได้กับทุกคน อาจจะไม่ใช่เครื่องบินตก แต่อาจจะเป็นรถชน รถเกิดประสานงากัน คนเรานี่ถ้าหากว่านอกจากการวางแผนชีวิตในทางที่มุ่งหมายให้เกิดความเจริญก้าวหน้า เผื่อใจไว้บ้างว่าถ้าเกิดมันไม่เป็นอย่างที่คิด ความตายมาเร็วกว่าที่คิดเราจะทำใจอย่างไร ในยามนั้นก็มีแต่ทำใจอย่างเดียวเท่านั้นแหละ ทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว ถ้าเราทำใจได้ดีมันก็ไม่ทุกข์ทรมาน แต่ทำใจอย่างนี้ได้ก็ต้องฝึก ต้องฝึก ฝึกยอมรับความไม่สมหวังที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ยอมรับเวลารถติด ทำอย่างไรจิตไม่ตก เวลาเพื่อนผิดนัดทำอย่างไรจะไม่ฉุนเฉียว ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ฝนตก แดดออก ทำอย่างไรจะไม่บ่นไม่โวยวาย หรือว่าแมลงเยอะ ยุงกัด ยอมรับได้ แม้ว่าเราจะฉีดยาไล่ยุงแล้วมันก็ยังมากวน ชีวิตเราต้องเจอกับสิ่งที่ไม่สมหวังอยู่เรื่อย ๆ แต่ถ้าเรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นบททดสอบเรา ทดสอบเพื่อให้เราเข้มแข็ง เพื่อให้เราว่องไวในการรับมือกับความไม่สมหวังที่รุนแรงในอนาคต ซึ่งบางครั้งก็หมายถึงความตายที่มาเร็ว สวนทางกับความมุ่งหวัง จะไปคาดหวังชีวิตใหม่ที่อังกฤษแต่ว่ามันกลับเป็นไปไม่ได้แล้ว หรือบางคนจะไปหาแม่ จะไปเยี่ยมแม่ ดีใจที่ได้พบแม่ แต่ระหว่างเดินทางประสบอุบัติเหตุ สิ่งที่คาดหวังเป็นไปไม่ได้แล้ว ถึงตอนนั้นก็ต้องทำใจอย่างเดียว แล้วจะทำใจอย่างไรถ้าไม่ได้ฝึก โดยเฉพาะถ้าไม่รู้จักวางแผน มีแผนสำรองเอาไว้รับมือกับความไม่สมหวัง ก็จะประสบแต่ความทุกข์ ฉะนั้นแผนสำรองที่ว่านี่จำเป็นมากเลย แผนสำรองในการทำใจ นอกจากแผนสำรองในการทำให้บรรลุความสำเร็จแล้ว ก็ต้องมีแผนรองรับเวลาไม่สำเร็จ ไม่สมหวัง จะอยู่กับมันได้อย่างไรโดยใจไม่ทุกข์
13 มิ.ย. 68 - คนหลอกไม่ร้ายเท่ากิเลสหลอก : อันนี้รวมไปถึงความซึมเศร้าด้วย ความซึมเศร้า ความท้อแท้ ความผิดหวัง ถ้าเราไม่รู้จักทักท้วงมันบ้าง ไม่รู้จักเท่าทันอุบายกิเลสของมัน มันก็จะครอบงำใจเรา แล้วพาเราดิ่งเลย ดิ่งลงเหวเลย หลายคนนี่พลาดท่าเสียทีไปกับอารมณ์เหล่านี้ จนกระทั่งทำร้ายตัวเอง มันสั่งให้ทำร้ายตัวเองก็ทำ อันนี้เพราะว่าไม่มีสติคอยทักท้วง เราก็เลยหลงเชื่ออารมณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย โลกภายนอกมันก็ล้วนแต่เต็มไปด้วยคนที่จะมาหลอกเรา เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่นั่นก็ยังอาจจะไม่น่ากลัวเท่ากับโลกภายในที่มันมีอารมณ์ต่าง ๆ ที่พร้อมจะล่อหลอกเรา โน้มน้าวเรา โน้มน้าวจิตใจเราให้หลงให้เชื่อ ฉะนั้นถ้าเราไม่มีสติ ไม่รู้จักทักท้วงความคิดและอารมณ์เหล่านี้ เราก็แย่ แต่คนไม่ค่อยตระหนักถึงอุบายหรืออันตรายของอารมณ์พวกนี้ จึงหลงเชื่อมัน เรารู้แต่เพียงว่า เออ ข้างนอกมันมีคนที่จะหลอกเรา ล่อเรา หลอกเอาเงินจากเรา หลอกให้เราทำตาม แต่เราไม่ค่อยตระหนักว่าอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นในใจนี้ มันก็พร้อมที่จะล่อหลอกเรา แม้เราจะพยายามเมินมัน มันก็พยายามดึงดูดใจเราให้ไปหลงเชื่อมัน ขนาดจะนอนก็ยังนอนไม่หลับ เพราะว่ามันมาล่อมาหลอกเรา ขนาดสวดมนต์มันก็ยังโผล่มา เพื่อล่อให้เราเชื่อ ล่อให้เราโกรธ ล่อให้เราโศก ล่อให้เราเศร้า ล่อให้เราซึม ล่อให้เราคับแค้น ท้อแท้ ชีวิตนี้ถ้าไม่มีสติก็เรียกว่าหาความอิสระได้ยาก ต้องตกเป็นเหยื่อของอารมณ์เหล่านี้อยู่เรื่อยไป จนกระทั่งชีวิตนี้ตกต่ำย่ำแย่
12 มิ.ย. 68 - รู้จักเหตุ รู้จักผล จึงฝึกตนได้ : รู้จักตนแล้วก็รู้จักประมาณ แค่ไหนถึงจะพอดี ทำมากไปก็ไม่ใช่ ทำน้อยไปก็ไม่ถูก รู้จักประมาณ รู้จักสถาน รู้จักกาล ก็คือรู้จักกาลเทศะ แล้วก็รู้จักบุคคล อันนี้ก็หมายถึงการเกี่ยวข้องกับผู้คน รู้ว่าเป็นคนแบบไหนที่เราเกี่ยวข้องด้วย พวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญาในการจำแนกแยกแยะ นี่คือสิ่งที่จะประกอบเข้าเป็นคุณลักษณะของชาวพุทธ หรือว่าสัตบุรุษ ซึ่งต้องอาศัยปัญญา ทำตามประเพณี ทำตามรูปแบบอย่างเดียวไม่พอ หรือแม้แต่ใช้ศรัทธาความเลื่อมใสอย่างเดียวก็ไม่พอ ชาวพุทธเรา หรือว่านักปฏิบัติยังขาดตรงนี้มาก แค่สองข้อแรกคือรู้จักเหตุรู้จักผลก็บกพร่องย่อหย่อนกันเยอะ ต้องกลับมาทบทวน แล้วก็ใคร่ครวญให้ดี
11 มิ.ย. 68 - เมินได้ใจก็สงบ : อารมณ์ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปยุ่งกับมัน เราก็พลาดท่าเสียทีได้ รวมทั้งความคิดด้วย ลองสังเกตดู พอมีความคิดเกิดขึ้น ความคิดที่ไม่ชอบไม่ถูกใจ ที่เราเรียกว่าความฟุ้งซ่าน ความโกรธ ความหงุดหงิด หลายคนพอรู้ว่ามันเกิดขึ้นในใจ ก็เข้าไปจัดการกับมัน พยายามกดข่มมัน พยายามห้ามไม่ให้คิด แต่ยิ่งทำอย่างนั้น มันก็ยิ่งคิด ยิ่งกดข่มความโกรธ มันก็ยิ่งโกรธ มันจะหลบไปชั่วคราว แต่เผลอเมื่อไรมันก็ระเบิด หลายคนกดข่มความโกรธ จนกระทั่งพอมีอะไรมาแตะนิดเดียว ปรี๊ดแตกเลย เพราะไปยุ่งกับมัน แต่ว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านั้นคือว่า รู้แล้วก็เมิน รู้ว่ามันมีอยู่ แต่เมินไม่สนใจ จะอยู่ก็อยู่ไป แต่ว่าฉันไม่ไปยุ่งอะไรกับเธอ เราต้องรู้จักการวางใจแบบนี้บ้าง ก็คือเมิน ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ หรือเสียงในหัว บางทีก็มีเสียงต่อว่าด่าทอคนนั้นคนนี้ บางทีก็มีเสียงต่อว่าครูบาอาจารย์ จ้วงจาบพระรัตนตรัย ใครที่ไปโรมรันพันตูกับเสียงในหัวแบบนี้ ก็เสร็จมันทุกราย มันยิ่งผุดยิ่งโผล่ เสียงมันยิ่งดังขึ้น แต่วิธีที่จะจัดการกับมันคือไม่สนใจมัน มันจะดังก็ดังไป ไม่สนใจ มันจะเกิดขึ้นยังไงก็ไม่สนใจ ไม่ใช่ไม่รู้ รู้ แต่เมิน ก็คือรู้ซื่อๆ นั่นแหละ รู้แล้วเมิน ฉะนั้นถ้าเรารู้จักทำแบบนี้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ หรือเสียง การกระทำคำพูดที่รับรู้จากภายนอก มันก็ทำให้ใจเราสงบได้ การกระทำคำพูดของใครต่อใคร ก็ไม่ได้ทำให้ใจจิตหวั่นไหวใจกระเพื่อม เช่นเดียวกันแม้จะมีความคิดใดเกิดขึ้นในใจ มันก็ไม่ได้ทำให้ใจเป็นทุกข์ เพราะว่าเรารู้จักเมิน ไม่ใส่ใจกับมัน
10 มิ.ย. 68 - เลิกหวังก็เลิกทุกข์ : ทุกข์ใจมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเขาเท่านั้น มันขึ้นอยู่กับว่าเขามีความคาดหวังเพียงใด ยังคิดที่จะไปจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเปล่า ที่จริงเวลามีปัญหา มันก็ถูกแล้วที่เราพยายามเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหา ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เอาแต่วิงวอนร้องขอเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หวังว่าปัญหาจะแก้ไปได้เอง หายไปเอง มันก็ไม่ถูก ก็ถูกแล้วที่เราจะเข้าไปจัดการกับปัญหา ซึ่งเป็นทัศนคติของคนในยุคปัจจุบัน มีปัญหาอะไรก็เข้าไปจัดการ ไม่อยู่เฉย แต่ว่าบางครั้งมันกลายเป็นว่า ชอบจัดการกับปัญหาทุกเรื่อง จนมองข้ามความจริงว่า ความคิดที่จะไปจัดการกับปัญหา บางทีมันกลายเป็นตัวสร้างปัญหาให้กับเราเอง เพราะเมื่อปัญหานั้นมันแก้ไม่ได้หรือไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะแก้ได้ มันก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาก เกิดความท้อแท้ เกิดความผิดหวัง เกิดความกลัดกลุ้ม เสร็จแล้วก็ไปโทษว่า เป็นเพราะว่าปัญหามันหนัก ไปโทษคนนั้นคนนี้ที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหา แต่ลืมมองไปว่าความทุกข์ใจที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่ไม่ยอมรับว่าปัญหามันแก้ไม่ได้ หรือเกิดจากความคาดหวังว่ามันต้องแก้ได้ คนเราเจอปัญหาหลายแบบ บางอย่างก็แก้ได้ บางอย่างก็แก้ไม่ได้ ถ้าเราเจอปัญหาที่แก้ได้ ก็สมควรที่เราจะใช้ความเพียรพยายาม ใช้ความมุ่งมั่น แต่ถ้าเกิดว่าเจอปัญหาที่แก้ไม่ได้ แล้วยังใช้ความเพียรพยายามไม่หยุดหย่อน ด้วยความคิดว่ามันจะแก้ได้ คาดหวังว่ามันต้องแก้ได้ พอมันแก้ไม่ได้นี่จะทุกข์มาก หรือว่าปัญหาบางอย่างแม้จะแก้ได้ แต่ว่ามันยังไม่ใช่เวลาที่จะแก้ได้ในเวลานี้ แต่พอพยายามจะแก้ให้ได้ มันก็ไม่ต่างจากเอาหัวชนฝา เลยเกิดความทุกข์ใจ
4 มิ.ย. 68 - ทุกข์เปิดใจให้เห็นธรรม : ความตายของคนที่เรารักหรือความตายของเราเอง ถ้าเราไม่หลับใหล เราเข้าใจสัจธรรมความจริง ความตายความสูญเสียคนรักมันก็ไม่ทำให้ทุกข์ระทมมาก นางกีสาโคตมีเห็น เข้าใจ พอเข้าใจก็ดวงตาเห็นธรรม ตอนหลังท่านก็บวชแล้วได้เป็นพระอรหันต์ เรียกว่าทุกข์ไม่ใช่แค่ให้ประโยชน์ในทางโลก แต่ว่ามันสามารถจะทำให้เกิดประโยชน์ในทางธรรมได้ มันทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา แต่ว่าคนส่วนใหญ่ พอเจอทุกข์แล้วจมอยู่ในความทุกข์ ใจปิดไม่รับรู้ อย่าว่าแต่เห็นสัจธรรมเลย แม้กระทั่งเกิดความคิดที่จะทำให้เกิดช่องทางที่จะพบความสำเร็จในทางโลกก็ไม่มี เราเจอความทุกข์ ให้เรามองว่า มันสามารถจะเปิดใจให้เราได้คิดบางอย่าง ทุกข์มีเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา อย่างน้อยๆ ก็ช่วยทำให้เราเห็นทางออก หรือเกิดความคิดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในทางโลก หรือมิฉะนั้น ถ้าเจอทุกข์หนักๆ ยิ่งทำให้เกิดประโยชน์ที่สูงค่ากว่านั้นคือ เกิดประโยชน์ทางธรรม เปิดใจเราให้เห็นสัจธรรมได้ พอเข้าใจแบบนี้หรือตระหนักแบบนี้ เวลาเจอทุกข์หรือเจอความผิดหวัง ไม่สมหวัง ก็อย่าจมอยู่ในความทุกข์ ลองตั้งสติให้ดี แล้วอาจจะพบสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดีๆ ที่นำไปสู่ประโยชน์ทางโลกหรือว่า ประโยชน์ในทางธรรม
3 มิ.ย. 68 - หาเหตุแห่งทุกข์ให้เจอ : เพราะความยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นกู ยึดว่าความปวดเป็นกู เป็นของกู ละความยึดมั่นที่ว่านี้ มันก็เหลือแต่ความปวดกาย แต่ว่าใจไม่ปวดแล้ว ปวดกายแต่ใจไม่ปวดได้เพราะรู้ เพราะรู้ความจริงว่าเกิดจากความยึดมั่นสำคัญหมายว่าความปวดเป็นกู เป็นของกู จะเห็นอย่างนี้ได้ จะรู้อย่างนี้ได้ ก็ต้องเจอความปวด เจอความทุกข์ ถ้านอนอยู่ในห้องแอร์สบาย ๆ ไม่เห็นหรอก ไม่รู้ว่าอะไรคือสมุทัย แล้วถ้ารู้สมุทัย มันก็จะรู้ต่อไปว่าทำไมถึงจะไม่ทุกข์ ก็ละวางความยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นกู เป็นของกู เริ่มจากการที่เห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นมัน เห็นด้วยสติ ต่อไปก็เห็นด้วยปัญญา เห็นด้วยปัญญาก็เห็นจากไหน เห็นจากความทุกข์นี่แหละ เห็นจากความปวดนี่แหละ ถ้าไม่ปวดก็ไม่เห็น ถ้าไม่ทุกข์ก็ไม่เกิดปัญญา อันนี้เรียกว่าพัฒนา หรือเขยิบขยับจากการรู้ซื่อ ๆ หรือว่ารู้แล้ววางมาเป็นการรู้แล้วเกิดปัญญาขึ้นมา เพราะฉะนั้นให้เราเข้าใจเห็นให้ชัดว่าเหตุแห่งทุกข์ที่แท้มันคืออะไร โดยเฉพาะเวลาเกิดความทุกข์ใจนี้อย่าไปผิดฝาผิดตัว ไปมองไปโทษว่าความทุกข์เกิดจากสิ่งภายนอก ความทุกข์กายนั้นใช่ แต่ความทุกข์ใจเหตุแห่งทุกข์นี่มันมีอยู่ที่ใจเราทั้งนั้นเลย ฉะนั้นถ้าปฏิบัติแล้วไม่เห็นตรงนี้ มันก็ต้องปฏิบัติเรื่อยไป จนกว่าจะเห็น
2 มิ.ย. 68 - มือถือคืออุปกรณ์ฝึกสติ : ถ้าเวลาเราอยู่บ้าน หรือว่ายังไม่สามารถปลีกตัวมาวัดได้ เราต้องอยู่กับงาน ต้องทำงาน ต้องอยู่กับครอบครัว มันก็ยังมีโอกาสปฏิบัติได้เหมือนเดิม ถ้าเรายังมีเวลาอาบน้ำ ถ้าเรายังมีเวลาถูฟัน ถ้าเรายังมีเวลากินข้าว เราก็ยังสามารถปฏิบัติได้ และถ้าเรายังใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือ ยังมีโทรศัพท์มือถืออยู่ใกล้มือ ก็ใช้มันเพื่อฝึกจิตฝึกใจของเรา ของทุกอย่างอย่าให้มันก่อโทษกับเราสถานเดียว ต้องรู้จักหาประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์จากมันด้วย เพราะฉะนั้นไม่ว่าโทรศัพท์มือถือหรืออะไรก็ตาม ถ้าเราใช้มันให้เป็น ก็มีประโยชน์ แม้กระทั่งอารมณ์ เช่น ความหงุดหงิด ความโกรธ ความเบื่อ ความเซ็ง ความฟุ้งซ่าน พวกนี้ก็อย่าปล่อยให้มารบกวนจิตใจเราทั้งวัน ต้องรู้จักใช้มันบ้าง เอามาฝึกสติ อย่างที่เคยพูดไว้ว่า “หลง” มี 2 แบบ หลงเพื่อหลงกับหลงเพื่อรู้ หลงเพื่อหลงคือหลงแล้วก็หลงอีก แต่ว่าหลงเพื่อรู้นี่ ความหลงมันเกิดขึ้นเพื่อให้เรารู้ ความโกรธก็เหมือนกัน ความโกรธไม่ใช่ว่าจะชวนเราไปทางเสียหายอย่างเดียว ถ้าเราใช้ความโกรธให้เป็น มันก็ฝึกจิตฝึกใจเราได้ เพราะว่าเรารู้ทันความโกรธ ก็ต้องเจอความโกรธบ่อยๆ ความทุกข์ก็เหมือนกัน เราจะพ้นทุกข์ได้ ก็ต้องเจอทุกข์บ่อยๆ อย่างที่หลวงพ่อพรหมมาท่านเคยพูด จะพ้นทุกข์ก็ต้องเข้าหาทุกข์ ถ้ากลัวทุกข์ก็ไม่อาจพ้นทุกข์ได้ อันนี้ท่านสอนเพื่อเตือนเราว่า ความทุกข์ถ้าใช้เป็นก็มีประโยชน์ และก็ไม่ต้องกลัวทุกข์ ถ้ากลัวทุกข์ก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ แต่ถ้าอยากให้พ้นทุกข์ก็ต้อง เข้าหาทุกข์ ที่จริงไม่ต้องเข้าหาก็ได้ เพราะทุกข์มันก็มาหาเราอยู่แล้วเรื่อยๆ แต่บางทีไม่มี ก็ต้องเข้าหามันบ้าง เพราะว่าถ้าสบายเกินไป มันก็จะมีแต่เกิดความหลงหนักขึ้น
1 มิ.ย. 68 - ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด : ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด สำหรับคนที่ประสบความสำเร็จ ที่ประสบกับสิ่งที่ถูกใจ มันก็คือการที่ไม่ลืม ไม่หลง ไม่ละเลยการทำสิ่งดี ๆ ที่ควรทำ ไม่ใช่เอาแต่เพลิดเพลินจนลืมเนื้อลืมตัว อันนี้ไม่ใช่ การที่จะเพลิดเพลิน หรือ มีความสุข มันควรจะเป็นสิ่งที่คนที่ประสบทุกข์ควรจะทำมากกว่า เพราะว่าถ้ามัวแต่จมอยู่กับความทุกข์ ความไม่สมหวัง ก็มีแต่จะทำให้จิตใจย่ำแย่ ในทุกข์มันมีสุข พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้เลย ผู้มีปัญญา แม้ประสบทุกข์ก็ยังหาสุขพบ แม้ว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่เราบางครั้งหนีไม่พ้น แต่เรามีสิทธิ์ที่จะไม่ทุกข์ได้ ถ้าเรารู้จักทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ก็คือการที่ไม่ปล่อยใจให้จมอยู่กับความทุกข์ หาโอกาสที่จะเติมสุขให้ใจ หาโอกาสที่จะทำสิ่งดี ๆ ที่จะทำให้เวลาที่มีอยู่ มันมีคุณค่า ถ้ากำลังจะตายก็เตรียมตัวเตรียมพร้อมสำหรับความตายที่จะมาถึง เหมือนกับที่คุณหมอแนตหรือหมอนิษฐาที่แนะนำคุณยาย รถไฟยังไม่มา เราก็เตรียมความพร้อมสำหรับการขึ้นรถไฟ แล้วก็หาอะไรสนุก ๆ ทำ พอรถไฟมาก็เราจะได้พร้อมที่จะขึ้นได้ โดยที่ไม่มีห่วง ไม่มีอาลัย
31 พ.ค. 68 - ธรรมอย่างไรเมื่อใจเครียด
30 พ.ค. 68 - ต้นทางแห่งอิสรภาพ : เกิดจากความหลงผิด ว่าจิตเป็นเรา เป็นของเรา บังคับได้ สั่งได้ แต่ถ้าเกิดว่าเรามีสติ สามารถจะเห็นได้ว่าเห็นความคิด เห็นอารมณ์ เห็นอาการของจิต พอเห็นแล้วมันก็จะรู้ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ความคิดไม่ใช่เรา ความโกรธไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เมื่อเห็นว่ามันไม่ใช่ของเราก็ไม่ไปยึดมัน เมื่อไม่ไปยึดมันว่ามันเป็นของเรา เราก็ไม่เป็นของมัน มันทำอะไรเราไม่ได้ อันนี้คืออิสระขั้นต้นที่เราควรจะสัมผัสได้จากการปฏิบัติ มาปฏิบัติแล้วไม่เห็นตรงนี้ ก็ถือว่ายังไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร แล้วต่อไปมันก็จะเห็นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเห็นความจริง ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่เห็นความจริงจากสิ่งที่เป็นรูปธรรม ว่ามันไม่ใช่ของเรา มันไม่ใช่เรา ทรัพย์สมบัติ เงินทอง ชื่อเสียง ร่างกาย ไม่ใช่ของเรา จิตมันวางเลย มันไม่ยึดว่าเป็นของเราแล้วสิ่งเหล่านี้ พอใจไม่ยึดว่ามันเป็นของเรา เราก็ไม่เป็นของมัน เราก็เป็นอิสระ มันจะเสื่อม มันจะเป็นอย่างไร ใจก็ไม่ทุกข์ อันนี้มันเป็นวิถีสู่อิสรภาพทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งเริ่มต้นจากการที่เรามีสติเห็นอาการของใจ เห็นความจริงของจิต และความคิดอย่างที่ว่ามา
29 พ.ค. 68 - สูงสุดคืนสู่สามัญ : ท่านอาจารย์โกวิทบอกคือ การไร้ความกังวล สิ้นไร้ความทะยานอยาก ไร้ศัตรูคู่อาฆาต ความอยากบรรลุธรรมก็ไม่มีแล้ว อันนี้ก็เรียกว่าเป็นองค์ประกอบของความสุขก็ได้ คนที่อุทิศตัวเพื่อการภาวนา เพื่อบรรลุธรรม การเข้าถึงนิพพานนี่กลายเป็นจุดหมายสูงสุดของอาจารย์โกวิท แต่ว่าพอถึงจุดหนึ่ง ปรากฏว่าก็แค่ไม่มีความกังวล สิ้นไร้ความทะยานอยาก ไร้ศัตรูคู่อาฆาต ความอยากบรรลุธรรมไม่มีแล้ว อันนี้กลายเป็นความสุขได้ อาจเป็นเพราะว่าอาจารย์โกวิทได้ถึงจุดหมายของชีวิตแล้ว หรือถึงแม้ยังไม่ถึง แต่ว่าพอไม่มีความทะยานอยาก ความสุขก็เกิดขึ้นได้ ก็เรียกว่าจากสูงสุดคืนสู่สามัญ ที่จริงความสุขไม่จำเป็นต้องสูงส่งอะไร เพียงแค่มีความรู้เนื้อรู้ตัว ไร้ความกังวล ไร้ความทะยานอยาก แม้จะเจอทุกขเวทนารักษาไม่หาย โรคพาร์กินสันสร้างความเดือดร้อนมาก แต่กับท่านอาจารย์โกวิทนั้น มองว่าไม่สำคัญเท่ากับว่า การที่ไร้ความกังวล ไร้ความทะยานอยาก แม้กระทั่งความอยากบรรลุธรรมก็ไม่มีแล้ว อันนี้ก็เรียกเป็นความสุขได้ จากชีวิตที่มุ่งความอุดมคติ มุ่งสูงสุดก็กลับมาคืนสู่สามัญ
28 พ.ค. 68 - หลงเพื่อรู้ ทุกข์เพื่อไม่ทุกข์ : ยิ่งกลัวอะไรยิ่งต้องเจอสิ่งนั้น ยิ่งกลัวทุกข์ก็ยิ่งเจอทุกข์ จึงไม่พ้นทุกข์ ยิ่งกลัวเกิดก็ยิ่งต้องเกิด จึงไม่พ้นเกิด ถ้าหากไม่อยากเกิดก็อย่าไปกลัวเกิด แต่ควรหาประโยชน์จากการเกิดว่า อะไรทำให้เกิด ไม่ว่าจะเป็นการเกิดจากท้องแม่ หรือการเกิดเป็นตัวกู มันก็ล้วนแต่มีสมุทัยก็คืออุปาทาน เพราะอุปาทานทำให้เกิดภพทำให้เกิดชาติ ถ้าไม่อยากเกิดก็ต้องเข้าใจทุกข์ เห็นทุกข์ จนกระทั่งรู้ว่ามันเกิดจากอุปาทาน มีอุปาทานจึงเกิดทุกข์ ถ้าไม่มีอุปาทานหรือละอุปาทานได้ก็ไม่เกิดทุกข์ แล้วก็ย่อมไม่นำไปสู่การเกิด ไม่ว่าจะเป็นภพชาติ ไม่มีภพไม่มีชาติ ก็ไม่มีชรามรณะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าหลงก็ดี ผิดก็ดี ทุกข์ก็ดี มันไม่ใช่เลวร้ายในตัวมันเอง อะไรเกิดขึ้นกับเรา มันจะดีหรือร้าย อยู่ที่เราว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร เราทำกับมันอย่างไร หลงถ้าไม่รู้ทัน มันก็ไม่ดี แต่หลงจะกลายเป็นดีได้เมื่อเรารู้ทัน ผิดกลายเป็นดี ถ้าเราเอามาเป็นครู จนสามารถจะทำความถูกต้องให้เกิดขึ้นได้ ทุกข์ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เลว ทุกข์สามารถเป็นประตูไปสู่สมุทัย นิโรธ แล้วก็มรรคได้ ถ้าหากว่าเรารู้จักมอง อย่างที่หลวงพ่อกงมาบอก ถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ต้องเข้าหาทุกข์ ถ้ากลัวทุกข์ก็ไม่พ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นเวลาเราเจอทุกข์ก็ถือว่าเป็นของดี เราจะได้เรียนรู้วิธีที่จะออกจากทุกข์ เหมือนกับที่อาจารย์กำพลบอกว่า ขอบคุณความทุกข์ เพราะความทุกข์สอนให้ผมรู้จักการออกจากทุกข์ เวลาเจอหลง ก็อย่าหลงเพื่อหลง แต่ให้หลงเพื่อรู้ หรือเปลี่ยนหลงให้เป็นรู้
27 พ.ค. 68 - เป็นสุขเมื่อหมดความทะยานอยาก : ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดอยู่ 2 ประโยค ก็คือว่า อยู่อย่างไม่มีความทุกข์ไปเรื่อยๆ กับทำประโยชน์กับผู้อื่นให้มากที่สุด เท่านี้ก็พอแล้ว อันนี้มันก็โยงไปกับคำสอนของท่านที่พูดอยู่เสมอว่า ชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ สงบเย็นเพราะว่าอยู่อย่างไม่มีความทุกข์ แล้วก็ไม่ทิ้งเรื่องการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น อันนี้ก็เป็นหลักในการดำเนินชีวิตของพวกเราได้ แต่ละวันๆ ถามตัวเองว่าตอนนี้เราสงบ เราพบความสงบเย็นหรือยัง หรือว่าจิตใจยังว้าวุ่น วุ่นวายรุ่มร้อน ยังมีความวิตกกังวล ก็ต้องพยายามทำให้ความรุ่มร้อนมันลดลง ทำให้ความวุ่นวายมันเบาบางลง การเจริญสติจะช่วยทำให้เราเข้าถึงความสงบเย็น โดยที่ไม่ทิ้งการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ไม่ใช่สงบเย็นด้วยการหลบลี้หนีผู้คนเข้าไปอยู่ป่า โดยไม่สนใจที่จะช่วยเหลือผู้คน ในขณะที่เรายังไปไม่ถึงระดับของท่านอาจารย์พุทธทาส แล้วก็อาจารย์โกวิท เราก็ต้องเพียรพยายามไปเรื่อยๆ จนไกลถึงจุดที่เราจะรู้สึกว่า หมดสิ้นซึ่งการแสวงหาแล้ว เพราะว่าเข้าถึงความสงบ จะเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ไม่สำคัญ แค่ไม่ทุกข์ก็พอแล้ว
26 พ.ค. 68 - นิ่งได้แม้ถูกใส่ความ : ท่านอาจารย์พุทธทาสซึ่งที่จริงก็สะท้อนความเป็นพุทธด้วย ก็คือว่าไม่หวั่นไหวต่อคำต่อว่าด่าทอ อันนี้ก็เป็นเครื่องวัดว่า เราปฏิบัติธรรมได้แค่ไหน ก็คือว่าเวลามีคนนินทาว่าร้าย ต่อว่าด่าทอแล้วใจเรานิ่งแค่ไหน หรือถึงไม่นิ่ง เรารู้จักควบคุม ไม่ตอบโต้ ไม่เอาคืน แม้บางอย่างการเอาคืนบางอย่างมันจะดูถูกต้องตามทางวิถีโลก เช่น ฟ้องหมิ่นประมาท แต่ว่าในทางธรรมมันก็แสดงว่าใจยังไม่นิ่งพอ เพราะว่ายังหวงแหนภาพลักษณ์ ยังมีอัตตาตัวตนสูง เพราะฉะนั้นจึงอยู่เฉยไม่ได้เวลามีคนพูดไม่ดีกับเรา หรือว่าใส่ร้ายเรา แต่ถ้าคนที่เขาอัตตาตัวตนน้อย ไม่ยึดติดในภาพลักษณ์ มีใครมาต่อว่าด่าทออะไรก็ไม่กระเทือน ไม่มีความจำเป็นต้องไปตอบโต้ ไม่มีความจำเป็นต้องเอาคืน ไม่มีความจำเป็นต้องมาขอขมา ถ้าจะมาขอขมาเองก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราไม่ทำ อันนี้เป็นวิสัยของนักปฏิบัติธรรม แต่คนที่ใช้ชีวิตทางโลกก็จะใช้อีกวิธีหนึ่ง ตอบโต้ เอาคืน เพราะนั่นคือวิถีโลก แต่วิถีธรรมมันตรงข้าม อย่างท่านฮาคุอินหรือพระพุทธเจ้านี่ก็เป็นตัวอย่าง ที่ท่านพุทธทาสท่านทำ แล้วก็เป็นตัวอย่างว่าแม้ว่าถูกกระทบใจไม่กระเทือนก็ได้ เพราะว่าอัตตาตัวตนน้อย แล้วเพราะไม่ยินดีใน ไม่ยึดติดหวงแหนในภาพลักษณ์ จึงไม่เป็นทุกข์กับคำต่อว่าด่าทอจนต้องขยับ ต้องเอาคืน ต้องตอบโต้อย่างที่เรามักจะเห็นทั่วไปในสังคมทุกวันนี้
25 พ.ค. 68 - งานมากมายแต่ใจไม่วุ่นวาย : เราบริหารใจ บริหารงาน บริหารเวลาด้วยดี ชีวิตมันก็จะง่ายขึ้น ไม่รีบร้อน ไม่ลุกลน ไม่ร้อนรน แล้วก็ไม่รุงรัง แต่มันก็ต้องให้เวลากับการฝึกจิต เพราะถ้าไม่ให้เวลากับการฝึกจิตมันก็จะมีปัญหา การฝึกจิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญแต่มันไม่ด่วน แต่หลายคนกว่าจะรู้ว่าสำคัญก็ต่อเมื่อพลาดไปแล้ว เช่น ทะเลาะเบาะแว้งจนกระทั่งทุบตีเพราะเกิดจากความวู่วาม เกิดโทสะ หรือว่าไปลักขโมย ไปทุจริต ถูกจับได้ เพราะว่ามันเกิดความโลภเรียกว่าหน้ามืด หรือบางทีก็ไปทำมิดีมิร้ายกับคนอื่นเพราะว่าหน้ามืด ถึงตอนนั้นรู้ว่าเป็นเพราะว่าเราขาดสติ ไม่รู้จักครองสติ พอติดคุกติดตะรางไป ก็เลยมาได้คิดว่าเป็นเพราะเราไม่ให้สำคัญ ไม่ให้เวลากับการฝึกสติ มีหลายคนมานึกได้ก็ตอนที่มันสายไปแล้ว ตอนที่เผลอทำตามอารมณ์ หรือทำด้วยความวู่วาม แล้วค่อยมารู้ว่าถ้ารู้อย่างนี้ก็จะให้เวลากับการฝึกสติ ฝึกจิตมากขึ้น อาจจะทำตั้งแต่ยังหนุ่มเลย ไม่ใช่มารอทำเอาหลังจากที่มันเกิดเหตุแล้ว แล้วคนส่วนใหญ่ก็มักจะมาคิดได้ตอนนี้ อันนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องฝึกจิตอย่างเดียว แม้กระทั่งเรื่องการออกกำลังกายด้วย พอร่างกายมันแย่ เครื่องพังขึ้นมา ถึงค่อยรู้ว่าเราน่าจะให้เวลากับการออกกำลังกายมากกว่านี้ แต่นี่กลับมองข้าม ไม่ใส่ใจ เพราะไปมัวทำแต่สิ่งที่สำคัญและด่วน หรือสิ่งที่ไม่สำคัญแต่ด่วน ทำทุกอย่างยกเว้นสิ่งที่สำคัญและไม่ด่วน อันนี้เพราะว่าไม่รู้จักจัดลำดับความสำคัญของงาน เรียกว่าไม่รู้จักบริหารงาน และไม่รู้จักบริหารใจด้วย
24 พ.ค. 68 - เปลี่ยนทุกข์เป็นธรรม : ทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา แม้กระทั่งความทุกข์ มันก็ดีทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราจะรู้จักมอง หรือพูดแบบหลวงพ่อคำเขียนคือ รู้จักเปลี่ยน เปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรม เปลี่ยนหลงให้เป็นรู้ เพราะที่จริงแล้วพิษของพืชบางชนิด ถ้าเอามาปรุงเอามาจัดการสักหน่อยก็เป็นยาได้ ความทุกข์ที่ทำให้คนบางคนคลั่งแค้น จะเป็นจะตาย หรือบางทีถึงกับฆ่าตัวตายนี่มันสามารถจะทำให้บางคนหรือผู้มีปัญญากลายเป็นอริยบุคคลได้ อย่างความรู้ที่เกิดจากนางกีสาโคตมีและนางปฏาจารา นั่นก็คือสิ่งเดียวกันกับที่ทำให้ทั้งสองท่านเป็นพระอริยบุคคล อันนี้เขาเรียกว่ารู้จักเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรม ฉะนั้นเราซึ่งเป็นนักปฏิบัติก็ต้องรู้จักฉลาด ถึงแม้จะไม่เรียกเราเป็นนักปฏิบัติแต่ถ้าใฝ่ธรรมก็ต้องรู้จักเปลี่ยน เปลี่ยนทุกข์ให้เป็นธรรม เปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา เปลี่ยนหลงให้เป็นรู้ให้ได้ อย่างน้อยก็รู้จักมองว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นกับเราดีเสมอ แม้บางอย่างดูเหมือนจะเป็นพิษ แต่ก็ยังที่หมอชีวกพบว่า สิ่งที่เป็นพิษก็ทำเป็นยาได้เหมือนกัน
23 พ.ค. 68 - เจอทุกข์อย่าได้ท้อ : เวลาเจออารมณ์ที่เป็นอกุศล หรือแม้กระทั่งอารมณ์ที่น่าพอใจก็ตาม อย่าปล่อยใจให้มันจมอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น ต้องรู้จักถอนใจออกมา จนเห็นว่าอารมณ์พวกนี้ก็อันหนึ่ง ใจเราก็อันหนึ่ง หรือเห็นว่ามันไม่ใช่เรา ความดีใจก็ไม่ใช่เรา ความเสียใจก็ไม่ใช่เรา ความโกรธก็ไม่ใช่เรา ความทุกข์ความสิ้นหวังก็ไม่ใช่เรา มีอารมณ์พวกนี้เกิดขึ้นได้ แต่มันทำอะไรจิตใจไม่ได้ เพราะเห็นว่ามันไม่ใช่เรา หรือว่ารู้จักวางระยะ เกิดระยะห่างระหว่างอารมณ์เหล่านี้กับจิตใจ เราก็รู้จักวางระยะกับคนที่ไม่แน่ใจว่าป่วยด้วยโรคโควิด หรือเป็นหวัดหรือเปล่า เราก็เรียกว่าโซเชียลดิสแทนชิ่ง social distancing แต่ว่ากับอารมณ์ที่มันเป็นอกุศลก็เหมือนกัน เราก็ต้องรู้จักวางระยะห่างจากมันบ้าง มันเกิดขึ้นก็อย่าให้มันครอบใจเรา ต้องรู้จักพาใจออกมาจากอารมณ์เหล่านั้น เห็นว่าอารมณ์ก็อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง หรือความทุกข์ก็อันหนึ่ง ใจก็อันหนึ่ง ตรงนี้แหละที่จะทำให้รอดจากความทุกข์ แล้วก็ผ่านมันไปได้ เหมือนกับนั่งรถทัวร์ผ่านสถานที่ต่างๆ ทั้งซากไฟไหม้ ทั้งโรงขยะ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนว่า ให้รักษาใจเหมือนกับนั่งรถทัวร์ผ่านตลอด ไม่มีมีการแวะ ไม่มีการไปข้องติดกับอะไร ถ้าหากว่าเราทำอย่างนั้นได้ เราก็จะเข้มแข็งกว่าเดิม ความทุกข์จะทำให้เราเข้มแข็งกว่าเดิม อย่างที่บางคนพูดว่า แพ้เป็นถ่าน ผ่านเป็นเพชร ถ้าเราหยุดก็ถูกมันไหม้เผาผลาญจนไม่เหลืออะไรเลย แต่ถ้าผ่านมันได้เราจะเข้มแข็งกว่าเดิม หรือประสบสิ่งดีๆ มากกว่าเดิม อย่างน้อยก็ได้ประสบการณ์ที่ทำให้เรามีปัญญา มีภูมิคุ้มกันในการเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรงยิ่งขึ้น หรือรุนแรงกว่านั้นในวันข้างหน้าได้
22 พ.ค. 68 - ใจสงบได้แม้ถูกกระทบ : แม้ว่ามันจะมีอารมณ์เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบ แต่ใจถ้าไม่กระเทือนก็ได้ ถ้าไม่ไปยึดอารมณ์เหล่านั้น ใจก็ยังสงบได้ สงบได้ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีอารมณ์ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความโศก ไม่มีความเครียด แม้มันยังมีได้ แต่ว่าใจก็ไม่ทุกข์ ใจก็ไม่กระเทือน เพราะว่ารู้ทัน รู้แล้วก็วาง รู้แล้วก็วาง ในที่สุดอารมณ์นั้นก็จางคลายไป นี่คือความสงบที่ไม่เกินเอื้อมของพวกเรา และที่เรามาปฏิบัตินี้ก็เพื่อมารู้จักกับความสงบชนิดนี้ ไม่ใช่สงบเพราะไม่มีอะไรมากระทบ แต่สงบเพราะว่าแม้มีอะไรมากระทบแต่ว่าใจไม่กระเทือน ไม่กระเทือนเพราะว่าไม่มีอารมณ์เกิดขึ้น ไม่มีความโศกเกิดขึ้น หรือถึงแม้จะมีความโกรธ ความหงุดหงิด ความเครียดเกิดขึ้น แต่ก็รู้ทัน แล้วก็ปล่อยวางมันได้ ไม่ไปยึดมัน พูดง่าย ๆ คือแม้มันมีอารมณ์เหล่านี้แต่ไม่เอา อันนี้คือความสงบที่มันไม่เหลือวิสัยที่เราจะทำให้เกิดขึ้นได้ แล้วมันเหมาะกับพวกเรามากเลย เพราะว่าการที่เราจะไปเจอ ไปอยู่ในที่ที่ไม่มีการกระทบนี้มันยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย แม้กระทั่งในวัดจะสงบยังไงก็มีเสียง หรือมีอะไรมากระทบ มีแมลงมากวน บางทีก็มีเสียงดัง แต่ถึงแม้จะมีเสียงดัง จะมีแมลงมากวน จะมีใครพูดไม่ถูกหู แต่ใจไม่ทุกข์ก็ได้ ไม่ทุกข์ไม่ใช่เพราะไม่โกรธ ไม่ใช่ไม่ทุกข์เพราะว่าไม่มีความหงุดหงิด ความโกรธ ความหงุดหงิดมี แต่รู้ทัน แล้วก็วางมันลง
21 พ.ค. 68 - ทำความเพียรแล้ว ทำใจด้วย : คนเราจะรู้จักยอมรับความจริงได้ มันต้องฝึก และเราสามารถจะเรียนรู้ตรงนี้ได้จากการมาปฏิบัติที่นี่ เพราะมันจะเจอกับสิ่งที่ไม่ถูกใจเราหลายอย่าง รวมทั้งพยายามปฏิบัติแล้ว มันก็ยังฟุ้ง พยายามปฏิบัติแล้วมันก็ยังไม่สงบ นั่นแหละเป็นของดี เป็นโอกาสที่เราจะได้ฝึกยอมรับ อยู่กับความไม่สมหวังด้วยใจที่ไม่ทุกข์ อยู่กับความไม่สำเร็จด้วยใจที่เป็นปกติ ถ้าเราฝึกใจยอมรับความฟุ้ง ความเครียดที่เกิดขึ้นได้ เราก็จะมีวิชาที่ไปต่อยอดได้เมื่อออกไปแล้ว คือฝึกใจยอมรับความเป็นไปของโลกและความเป็นไปของชีวิต อาจจะยังไม่ได้มีสติเต็มที่ ไม่ได้พบความสงบอย่างที่หวัง แต่ก็ได้บางอย่างที่มีค่าไปไม่น้อย หรือหลายอย่างด้วย หนึ่งในนั้นคือการรู้จักยอมรับ ยอมรับกาย ยอมรับใจ ยอมรับความจริง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ หลายคนที่มาก็ประสบความสำเร็จ เพราะว่าอาศัยความเพียร แต่มันไม่พอ อย่างที่บอก หลายอย่างหลายสิ่งมันไม่สามารถจะบรรลุได้เพราะความเพียร หรือเหตุปัจจัยยังไม่มากพอที่จะทำให้บรรลุได้ แต่ถ้ารู้จักทำใจยอมรับ มันก็ช่วยทำให้เราอยู่ในโลกที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ เจอความไม่สมหวังก็ไม่ทุกข์ แม้เจอความสมหวัง ใจก็ไม่ดิ่ง อันนี้แหละคือสิ่งที่เราสามารถจะเรียนรู้ได้จากการมาปฏิบัติที่นี่ มันเป็นสิ่งที่หลายคนไม่คิดจะมาเพื่อสิ่งนี้ ต้องการความสงบ ต้องการความพ้นทุกข์ และพ้นทุกข์ก็คือว่า ใจมันไม่คิดอะไร แต่ถ้ามันคิดล่ะ หรือคิดว่าไม่ทุกข์ เพราะยอมรับความจริงได้ เพราะอนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ นี่แหละคือ สิ่งที่เราสามารถจะตักตวง เก็บเกี่ยวได้จากการปฏิบัติ แม้จะยังไม่บรรลุถึงสิ่งที่คาดหวังจากการมาที่นี่ก็ตาม
20 พ.ค. 68 - รู้ใจก็ไกลทุกข์ : ความหลง ความคิดฟุ้งซ่าน อารมณ์หงุดหงิด ความรู้สึกลบ มันเกิดขึ้นได้เพราะมันมีความหลงเป็นเชื้อเป็นอาหาร แต่พอเรามีสติรู้ทัน เรียกว่ารู้ใจ ความคิดลบที่เคยทำให้เราหงุดหงิดหัวเสีย ทำให้เราเครียด ทำให้เรากังวล มันก็หายไป พูดง่ายๆ คือว่า รู้กายทำให้รู้ใจ แล้วรู้ใจก็ทำให้ไกลทุกข์มากขึ้น ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความคิด ที่ชอบคิดลบ ชอบระแวง หรือความทุกข์ที่เกิดเพราะความเครียด ความกังวลที่เคยก่อกวนจิตใจ มันจะเล่นงานจิตใจเราไม่เหมือนก่อนแล้ว เพราะว่าเรามีสติรู้ทัน การรู้ใจมันก็ทำให้ใจเรามันไกลทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากความคิดลบ อารมณ์ที่เป็นอกุศล แม้มันยังเกิดขึ้นอยู่ แต่มันก็จะอยู่ไม่นาน ไม่สามารถรบกวนจิตใจเราได้ ยิ่งรู้ใจเท่าไหร่ มันก็ยิ่งไกลทุกข์เร็วเท่านั้น แล้วพอไกลทุกข์ ใจก็จะสงบได้ เป็นความสงบเพราะรู้ ไม่ใช่สงบเพราะไม่รู้ ไม่ใช่เพราะไม่ได้ยิน แต่สงบเพราะรู้ใจ เราฝึกให้หมั่นรู้ใจบ่อยๆ แต่ว่าก่อนจะถึงตรงนั้นก็ต้องรู้กายก่อน รู้กายเร็วเท่าไหร่ ต่อเนื่องเท่าไหร่ ก็จะรู้ใจได้ไว รู้ใจได้ไว ก็จะพาใจออกห่างจากความทุกข์ได้มากแค่นั้น
19 พ.ค. 68 - อะไรเกิดขึ้นกับเราดีทั้งนั้น : และถ้าเรายอมรับสิ่งต่าง ๆ ได้ รวมทั้งสิ่งที่ไม่ถูกใจ ออกไปข้างนอกเจอความไม่ถูกใจ มันก็ไม่ทุกข์ และนั่นแหละคือความสงบที่เราอาจจะคาดไม่ถึงเลย ไม่ใช่สงบเพราะไม่มีเสียงดัง แต่สงบเพราะใจมันไม่โวยวาย ใจมันยอมรับ มันก็สงบได้ ไม่ใช่ว่าปฏิบัติแล้วจะไม่หายปวด การปฏิบัติแล้วจะหายปวด ปฏิบัติแล้วจะไม่ฟุ้ง ยังฟุ้งอยู่แต่ใจไม่ทุกข์แล้ว เพราะว่าไม่คาดหวังความไม่ฟุ้ง จริง ๆ ความฟุ้งไม่ได้ลงโทษเรา ไม่ได้รบกวนเรา แต่ที่ทุกข์เพราะไม่ชอบความฟุ้ง ไม่อยากให้มันฟุ้ง คาดหวังความไม่ฟุ้ง แต่พอเราปรับใจยอมรับมันได้ วางความคาดหวังทุกอย่าง ฟุ้งก็ได้ ไม่ฟุ้งก็ได้ พอถึงเวลาที่ความฟุ้งเกิดขึ้น เราไม่ทุกข์แล้ว เพราะอย่างที่ว่าถ้าวางใจเป็น แม้กระทั่งมะเร็งมันก็กลายเป็นของขวัญได้ นับประสาอะไรกับความฟุ้ง ถ้าเรารับมือกับมันไม่ได้ ยังทุกข์เพราะมัน นี่แสดงว่าเรายังต้องฝึกอีกมาก แสดงว่าเราจะต้องเรียนรู้ที่จะต้องผ่านการฝึกฝนจากความฟุ้ง ให้มันฟุ้งเยอะ ๆ จนกระทั่งทำใจยอมรับได้
18 พ.ค. 68 - ที่นี่เดี๋ยวนี้ ไม่มีเหตุให้ทุกข์ : บางทีเราก็เครียด เราก็กังวล เพราะใจไปนึกถึงงานที่รออยู่ข้างหน้า ยังไม่ได้ไปสอบแต่ใจก็เครียดแล้ว ยังไม่ได้ไปพรีเซนต์งานในที่ประชุมเลยแต่ก็เครียดแล้ว กังวลซะแล้ว เราเครียดเรากังวลกับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น แล้วบางอย่างก็อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ แต่ว่าก็เครียดไปแล้ว ทุกข์ไปแล้ว นี่เรียกว่าหลงไปอดีต ลอยไปในอนาคต สรุปแล้วก็เลยจมอยู่ในความทุกข์ แต่ถ้าเรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่มีเหตุผลที่เราจะทุกข์เลยนะ ถ้าใจเราอยู่ตรงนี้ที่หอไตร มันไม่มีอะไรต้องทุกข์เลย ถึงแม้จะมีแมลงอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าพื้นจะแข็งบ้างแต่ก็ไม่เท่าไหร่ แต่พอใจเราไปนึกถึงวันพรุ่งนี้เลย โอ๋ จะต้องปฏิบัติทั้งวันจะไหวหรือนี่ จะต้องปฏิบัติอีกตั้ง 6 วัน จะไหวหรือนี่ คิดถึงงานที่ยังไม่ได้ทำ คิดถึงหนี้ที่ยังไม่ได้ผ่อน เครียดเลย แต่ทำไมถึงคิดนะ เพราะไม่รู้ตัว แล้วเรื่องที่คิดก็เป็นเรื่องอนาคต ถ้าใจเราอยู่กับปัจจุบัน ที่นี่ เดี๋ยวนี้ มันไม่มีเหตุผลจะต้องเครียด ไม่มีเหตุผลจะต้องทุกข์ ไม่มีเหตุผลจะต้องเศร้าเลยนะ แต่ที่เราเศร้า ที่เราโกรธ ที่เราแค้น ที่เราอาลัยอาวรณ์ ที่เรากังวล เครียด เพราะใจไม่อยู่กับปัจจุบันทั้งนั้นเลย ถ้าใจกลับมาอยู่กับปัจจุบันก็ไม่มีอะไรที่ต้องทำให้ทุกข์ สำคัญก็คือว่าใจเราไม่ยอมอยู่กับปัจจุบัน เพราะใจเราชอบหลง แต่ถ้ามีสติที่ฝึกไว้ดีแล้ว มันก็จะทำให้ใจอยู่กับปัจจุบันได้ง่าย การปฏิบัติที่เคยเป็นเรื่องยากก็กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมา แล้วก็จะรู้ว่าที่มันยากเพราะเราทำให้มันยากไปเอง ไม่ใช่เพราะว่าการปฏิบัติมันยากในตัว อันนั้นไม่ใช่
15 พ.ค. 68 - สอนเด็กให้รู้จักมรณานุสติ : คนเราแม้เราจะรักกันอย่างไร แต่ถ้าเกิดว่าเราทำไม่ดีต่อกัน โดยเฉพาะในช่วงโมเมนต์สุดท้าย มันก็บาดลึกกินใจ แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเกิดเราทำดีกับเขา ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาสุดท้าย แต่ทำมาดีโดยตลอด เวลาเขาจากไป ก็จะไม่เศร้าเสียใจมาก เพราะว่าตอนที่เขาอยู่กับเรา เราก็ทำดีกับเขาเต็มที่แล้ว คนเราถ้าหากระลึกว่าคนที่ผูกพันกับเรา เขาจะจากเราไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แล้วเราก็พยายามทำดีกับเขา ไม่เอาความรู้สึกของตัวเองเป็นใหญ่ แล้วไม่ใช่เขาเท่านั้นที่อาจจะจากเราไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อาจจะเป็นเราก็ได้ด้วยซ้ำที่จากเขาไป จากพ่อจากแม่ไป จากลูก จากคนรัก ถ้าเกิดว่าเราได้ทำดีกับเขามาโดยตลอด ถึงเวลาที่เราจะจากไป เราก็ไม่มีความอาลัย ไม่มีความเสียใจ พร้อมจะไป
14 พ.ค. 68 - กิเลสเนียนแค่ไหน ใจก็รู้ทัน : คนเราเวลาไม่ได้รับความสนใจ มันก็ย่อมไม่พอใจ แต่ก็ต้องสังเกตว่าเป็นเพราะอะไร เพราะกิเลสหรือเปล่า อัตตาหรือเปล่า เป็นเพราะมานะไหม ถ้ารู้ทันก็อย่าให้มันครองใจ มันโกรธก็โกรธไป แต่ให้มันเป็นกิเลสที่โกรธ ไม่ใช่เราโกรธ แต่ถ้าไม่เท่าทันมัน ก็จะโกรธจนกระทั่งไม่มีความสุขเลย แล้วเป็นอย่างนี้กันเยอะ เพียงแค่ไม่ถูกทักโดยใครบางคน โกรธเขาจนตายก็มี แต่ถ้าเรารู้ทัน เราก็รู้ว่านี่มันเป็นเพราะกิเลส ก็ไม่ปล่อยให้ความโกรธนั้นครองใจ หรือบางทีอยากจะอวด แต่มันไม่มีช่องทางจะอวด เกิดความอัดอั้นตันใจขึ้นมา ก็ให้รู้ว่าที่อัดอั้นมันเป็นตัวมานะที่อยากจะโชว์ อยากจะประกาศให้โลกรู้ และเราก็ควรที่จะไม่ทำตามอำนาจของมันบ้าง เพราะถ้าทำตามอำนาจของมัน มันก็จะครองจิตครองใจเราอยู่ตลอดเวลา เราก็ต้องรู้จัก ไม่ปล่อยให้มันครองใจ แม้เราจะห่างไกลจากกิเลสที่หยาบ แต่กิเลสที่มันละเอียด กิเลสที่มันเนียนก็ยังสามารถจะเข้ามาเล่นงานจิตใจเราได้ เราต้องรู้ทัน โดยเฉพาะกิเลสที่ชื่อมานะ อยากประกาศตัวตน อยากจะให้ใครเขารู้จัก อยากจะอวดความเก่งความดี ความสามารถของเรา หรือแม้กระทั่งอยากจะเป็นคนดี อยากให้ใครชมว่าเราเป็นคนดี ตรงนี้ต้องระวัง เพราะถ้าเราปล่อยให้มันครองใจเมื่อไหร่ เราก็จะทุกข์ได้ง่าย แม้เราจะยังเอามันออกไปจากใจได้ไม่หมด แต่อย่างน้อยก็ให้รู้ทัน แล้วไม่สนองความต้องการของมัน
12 พ.ค. 68 - เสริมสร้างภูมิคุ้มใจ : ภูมิคุ้มกันจิตใจก็เหมือนกัน เราก็ต้องช่วยให้เขาทำงานได้ดี ที่จริงการเจริญสติมันก็เป็นวิธีการที่ชัดตรง หรือว่าลัดตรงอยู่แล้ว ยิ่งเราเจริญสติเท่าไหร่ สติเราก็มีกำลังแข็งแรง ถ้าหากว่าทำถูกวิธี แต่ถ้าทำไม่ถูกวิธี ทำด้วยความอยาก สติก็ไม่ได้โตหรือโตช้า วิธีการช่วยให้สติแข็งแรงก็ทำได้หลายอย่าง ส่วนหนึ่งก็พยายามห่างไกลจากสิ่งเร้าเย้ายวนไม่ว่าทางมือถือ การพูดคุยกับผู้คน การสังสรรค์เฮฮา อันนี้นอกจากทำให้ตัวหลงมีกำลัง ยังทำให้สติเราอ่อนแอด้วย ที่พระพุทธเจ้าตรัส การนอนการนั่งในที่อันสงัด ความหมายหนึ่งหรือวัตถุประสงค์อันหนึ่งก็คือ เพื่อให้สติเรามีกำลัง เป็นตัวช่วยให้สติมีกำลัง เพราะว่าถ้าหากว่าอยู่ในที่ที่วุ่นวาย มันก็จะมีสิ่งรบกวน มีสิ่งยั่วยุ สิ่งเย้ายวน สติก็เติบโตช้า การรู้จักเสพ การเสพพอประมาณ รู้จักประมาณในการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคข่าวสาร การบริโภคโซเชียลมีเดีย สมัยนี้ถ้าเราบริโภคแต่น้อย มันก็ช่วยเติมเสริมสติให้มีกำลังได้
10 พ.ค. 68 - ฝีกจิตเสริมประสบการณ์ชีวิต : ประสบการณ์ชีวิตก็สอนเรามากมาย แต่บางคนก็รู้ว่า อย่าไปสนใจกับความโกรธ อย่าไปสนใจกับเสียงดัง จากเพื่อนบ้าน แต่มันห้ามใจไม่ได้ รู้ว่าไม่ดี แต่ก็ไปสนใจกับมัน แล้วก็เลยหงุดหงิดหัวเสีย อย่างที่เขาพูดว่า ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้ รู้ว่าเงินทองเป็นของนอกกาย แต่พอหาย หรือพอซื้อของเกิน จ่ายเงินเกิน แพงไป เสียใจ รู้ทั้งรู้ว่าเงินทองเป็นของนอกกาย แต่มันอดเสียดายเสียใจไม่ได้ แต่พอมีสติปุ๊บ นี่ โอ้ มันวางได้เลย มันจะมีความอาลัย ความเสียดายเกิดขึ้นในใจอย่างไร ก็ทำอะไรใจเราไม่ได้ มันจะมีเสียงต่อว่าแม่ค้าที่โกงเรา หรือเสียงด่าว่าตัวเองว่าทำไมโง่ให้เขาหลอก มันก็ไม่สน ไม่นานเสียงนี้ก็เงียบไป เพราะฉะนั้น เจออะไรก็ตาม ใจก็ไม่ทุกข์ ถ้าหากว่าเราฝึกจิตเราให้ดี และการฝึกจิตอย่างนี้คือการฝึกสติ และนี่คือเหตุผลที่เรามาฝึกกัน มาเสริมกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้ จากประสบการณ์อันยาวนานของเรา จากประสบการณ์ที่ได้ผ่านโลกมา เรามาเสริมตรงนี้ เพื่อทำให้ชีวิตของเรามีความสงบเย็น รวมทั้งสามารถก้าวข้ามผ่านทุกข์ไปได้ง่ายขึ้น
9 พ.ค. 68 - ทำบุญแล้ว ปฎิบัติธรรมด้วย : เราทุกข์เพราะความคิด การที่เรามาเห็น มารู้ทันความคิด และไม่ปล่อยให้จิตมันไหลไปอดีต ลอยไปอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ ที่เรามันเจริญสติกันเพื่อที่เราจะได้รู้จักวิธีในการดับทุกข์ ดับที่ใจ ไม่ต้องไปดับที่อื่น เพราะบางอย่างก็ดับไม่ได้ ไปแก้ไม่ได้ บางทีเสียงริงโทนจากโทรศัพท์มือถือของคนอื่น มันดังเข้ามาเราจะไปทำอย่างไร แต่ถ้าเราปล่อยวาง ไม่ไปจดจ่อที่เสียงนั้น ไม่รู้สึกลบกับเสียงนั้น ปล่อยให้มันเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไป ใจเราก็ไม่ทุกข์ ที่เรามาเจริญสติเพื่อมาฝึกให้ใจเรามีธรรมะ ก็คือสติรักษาใจ ฉะนั้นถ้าเรามีสติเป็นเครื่องรักษาใจ ใจมันก็จะไม่เพ่นพ่าน ไม่ไปหาทุกข์ หรือไม่ไปซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้ใจ เราถนัดกับการจัดการกับสิ่งภายนอกเพื่อให้ใจสงบ อันนี้เราคุ้นเราเก่งเราถนัด แต่ที่เรายังไม่ค่อยถนัดคือการปรับแก้ที่ใจเรา ปรับแก้ที่ความคิดที่มันชอบคิดลบคิดร้าย ที่มันชอบไปจมอยู่กับอดีต ไปพะวงกับอนาคต หรือว่าไปยึดติดกับความคาดหวังโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้นถ้าเรามาฝึก มาปฏิบัติธรรม ได้ตรงนี้ไปมันจะช่วยทำให้เรารับมือกับความทุกข์ได้ อยู่กับ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ไม่เป็นไปดั่งใจ ที่ไม่ถูกใจได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ นั่นแหละคือธรรมะที่เราควรจะมี นอกเหนือจากการที่เราหมั่นทำบุญอยู่เสมอ
1 พ.ค. 68 - สนใจธรรมทำไมถึงโกรธง่าย : เราใช้เวลา 1 ชั่วโมงกับโทรศัพท์มือถือ กับโซเชียลมีเดีย จิตใจก็เครียดแล้ว อันนี้เพราะไม่รู้จักเปิดใจรับรู้สิ่งดี ๆ บ้าง หรืออย่างน้อยก็รู้จักพักจิตพักใจมั่ง เติมช่องว่างให้กับใจบ้าง แทนที่จะไปรับรู้สิ่งแย่ ๆ ก็กลับมารับรู้สิ่งที่มันเป็นกลาง ๆ เช่น ลมหายใจ กลับมาอยู่กับลมหายใจที่มันเป็นกลาง ๆ หรือมิเช่นนั้นก็ต้องยอมรับว่า ชีวิตประจำวันของเราไม่ใช่ว่าจะมีแต่สิ่งที่ถูกใจเราอย่างเดียว มันก็มีสิ่งที่ไม่ถูกใจด้วย ถ้าเราเผื่อใจเอาไว้ว่ามันจะมีสิ่งที่ไม่ถูกใจเรา เวลาเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจ มันก็ทำใจได้ เพราะรู้ว่ามันเป็นธรรมดา หรือเพราะไม่คาดหวังว่าจะต้องมีแต่สิ่งที่ถูกใจอย่างเดียว ยอมรับความจริงของโลกได้ มันก็ทำให้ความหงุดหงิดที่สะสมหมักหมมในแต่ละวันน้อยลง ถ้าสิ่งที่สะสมหมักหมมน้อยลง เวลาถูกอะไรกระทบ มันก็ไม่ปรี๊ดแตกมาก แต่เดี๋ยวนี้คนเราปรี๊ดแตกง่ายเพราะสะสมหมักหมมความเครียดเอาไว้เยอะ จากการไปรับรู้แต่สิ่งแย่ ๆ หรือมิเช่นนั้นก็ไปคาดหวังว่ามันจะมีแต่สิ่งที่ดี ๆ ไม่ยอมรับความจริงว่ามันมีทั้งบวกและลบ มีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องรู้จักฝึกใจไว้ด้วย จะไปหวังให้โลกนี้มันถูกใจเราทุกเรื่องมันยาก จะไปเปลี่ยนโลกนั้นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนที่ใจของเราได้
30 เม.ย. 68 - เยียวยาใจด้วยการให้อภัย : ใจที่มีบาดแผลเพราะความโกรธเกลียดนี้ มันทุกข์มาก เวลาเรามีความโกรธเกลียด มีความเคียดแค้นพยาบาท ความทุกข์ทรมานนี่มันรุนแรงมาก จิตใจมันรุ่มมร้อน บางทีสิ่งที่ถูกกระทำกับกับร่างกาย ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับความโกรธเกลียดที่มีอยู่ในใจ หลายๆ คนก็เลือกที่จะจัดการกับความโกรธเกลียดนั้น ด้วยการให้อภัย เพราะการให้อภัยมันเหมือนกับเป็นการเยียวยาจิตใจ
29 เม.ย. 68 - รู้สึกตัวจนหายกลัว : ความกลัวก็เหมือนกัน กลัวอะไรใน ใจก็จะไปจดจ่ออยู่ตรงนั้น ต้องเรียกว่ามันมีอำนาจในการดึงดูดความสนใจของเรา แต่ถ้าเราแค่รู้ทันมันเฉย ๆ เห็นมัน ไม่ยุ่งกับมัน มันก็จะค่อย ๆ เบาลง ๆ ฉะนั้นการฝึกสตินี่สำคัญมากที่จะช่วยทำให้เรารับมือกับความกลัวได้ แต่การที่จะไปเห็นอารมณ์ รู้ทันอารมณ์ แล้วไม่ไปข้องแวะกับมัน ถ้าไม่ได้ฝึกมาก็ยาก และถ้าจะฝึกก็ต้องเริ่มจากสิ่งที่มันง่ายก่อน เช่น มารับรู้ดูกาย เวลาความกลัวเกิดขึ้นกายเป็นอย่างไร หน้านิ่วคิ้วขมวดหรือเปล่า ลมหายใจมันตื้น มันถี่ มันสั้นหรือเปล่า หัวใจเต้นแรงไหม มือไม้กำแน่นหรือเปล่า เพียงแค่เอาใจมาดูกาย มาสแกนเลยก็ได้ มาสแกนดูว่าอวัยวะแต่ละส่วน ๆ ตั้งแต่ใบหน้าลงมาจนถึงแข้งขาเป็นอย่างไร มันช่วยได้เยอะ เพราะในช่วงขณะนั้นแหละที่ทำให้ใจมันหลุดออกจากความกลัว หรือใจหลุดออกจากเรื่องที่กลัว เรียกว่าวางเรื่องที่กลัวหรือสิ่งที่กลัว ไม่ว่าปรากฏอยู่ในใจหรือว่าได้ยินหรือเห็นก็ตาม การมารับรู้กายนี้ช่วยได้เยอะ แล้วพอรับรู้กายแล้ว มันก็จะพบว่ากายนี่เริ่มจะผ่อนคลายลง การหายใจที่เคยสั้นและถี่ จะค่อยเป็นปกติมากขึ้น มันช่วยลดความกลัวได้
28 เม.ย. 68 - ถนอมความสนใจให้กับสิ่งสำคัญ : ถ้าเรารู้จักเลือก ให้ความสนใจมาที่กาย ไม่ว่ารู้กายเคลื่อนไหว หรือบางทีมีความโกรธก็เอาความสนใจมาอยู่ที่ลมหายใจ หายใจเข้าหายใจออกลึก ๆ ให้ความสนใจกับกายแบบนี้มันดีกว่า ต่อไปก็เวลาใจมันคิดนึกอะไรก็รู้ รู้แบบรู้เฉย ๆ รู้แล้วก็วาง ไม่ได้ให้ค่า ไม่ได้ให้ความสนใจกับมัน ไม่ว่าจะเป็นคิดดีคิดไม่ดีก็แค่รู้ แล้วก็วาง ไม่สนใจต่อ มีความคิดลบคิดบวก อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดีก็แค่รู้เฉย ๆ เรามาฝึกให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านี้ดีกว่า ดีกว่าส่งจิตออกนอก ดีกว่าปล่อยใจออกไปกับเรื่องนั้นเรื่องนี้จนกระทั่งไม่มีเวลาที่จะมาอยู่กับตัวเองเลย ยุคนี้เป็นยุคที่การรู้จักให้ความสนใจเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าเราปล่อยใจไปตามอำนาจของสิ่งดึงดูดที่พยายามแย่งชิงความสนใจของเราไป สุดท้ายเราจะไม่เหลืออะไรเลย ไม่เหลือแม้กระทั่งเวลาที่จะเป็นตัวของตัวเอง มีลูก มีคนรัก เขาก็ทิ้งหมดเพราะว่าเราไม่สนใจเขา ไม่เหลืออะไรเลย ถ้าไม่รู้จักควบคุมความสนใจของเราให้เป็นที่เป็นทาง
27 เม.ย. 68 - เรียกสติในยามวิกฤติ : คนส่วนใหญ่เวลาดมเรียกสติ ส่วนใหญ่ก็หมายถึงสติคือความระลึกได้ ซึ่งก็มีประโยชน์ แต่ว่าไม่พอ เพราะว่าเวลาอารมณ์รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความกลัว สามัญสติอาจจะไม่พอ ไม่สามารถจะระลึกได้ว่า ที่จะทำไปจะเกิดโทษอย่างไรบ้าง หรือระลึกได้ว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ แต่ถ้าเราฝึกสัมมาสติได้มากพอจะลึกได้เร็ว จะรู้ตัวได้ไว จะเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น รู้ตัวว่าเผลอแล้ว รู้ตัวว่าอารมณ์ท่วมท้น อารมณ์ก็จะเบาบางเพราะธรรมชาติของอารมณ์พวกนี้แพ้ทางสติ มันกลัวการถูกรู้ ถูกเห็น ฉะนั้นการท่อง การฟัง ได้ยินอะไรมามาก ๆ อาจจะช่วยให้เราระลึกได้ในยามจำเป็น แต่ว่าในบางครั้งระลึกไม่ได้เลย เพราะอารมณ์มันรุนแรง มันลืมตัวหนัก แต่พอเจอสัมมาสติเข้า เอาอยู่ ถ้าหากว่าได้ฝึกมา เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เราควรจะต้องหมั่นฝึก ฝึกสัมมาสติ ฝึกให้มี ให้เห็น ให้รู้ทันความคิด ให้รู้ทันอารมณ์ อย่าหวังพึ่งตัวช่วย อย่าหวังพึ่งเพื่อนที่มาด้วยกัน เพราะบางทีเขาก็ไม่ได้มากับเรา หรือบางทีก็กลับยุเราด้วยซ้ำเพราะเขาก็โกรธพอ ๆ กับเรา ยุส่งให้เราไปลุยไปราวี แต่ว่าถึงแม้ไม่มีใครมาเตือนสติเราแต่ว่าสติในใจเรานี่แหละที่จะช่วยเราได้โดยเฉพาะถ้าเป็นสัมมาสติ
26 เม.ย. 68 - ความร้อนสอนธรรม : ความรู้สึกว่าร้อนเป็นเวทนา ในยามนี้สำหรับคนส่วนใหญ่ก็คือทุกขเวทนา แต่ถ้าเกิดใจบ่นว่า “ร้อน ร้อนเหลือเกิน” อันนี้มันเจือไปด้วยความหงุดหงิด ความไม่พอใจ ตรงนี้เป็นสังขารแล้ว เวทนาอย่างเดียวเราจะมองว่าเป็นสัญญาก็ได้ เวทนาก็ได้ สังขารก็ได้ มันสำคัญยังไง สำคัญตรงที่ว่าเวลาเรารู้สึกร้อน แล้วมันไม่ใช่แค่รู้สึกร้อน แต่ใจมันบ่นว่า “ร้อน ร้อนเหลือเกิน” ตรงนี้มันแปลว่าไม่ใช่กายที่ร้อนอย่างเดียว ใจก็ร้อน ไม่ใช่กายที่ทุกข์อย่างเดียว ใจก็ทุกข์ด้วย แล้วถ้าเราปล่อยให้ใจทุกข์ มันก็เหมือนกับว่าทุกข์ 2 ชั้น หรือว่าร้อน 2 ต่อ ร้อนกายแล้วก็ร้อนใจ ถ้าร้อนแล้วมันทำให้ทุกข์กาย แล้วก็ทุกข์ใจตามไปด้วย ในเมื่อจะร้อนทั้งที ก็ให้มันร้อนอย่างเดียวคือร้อนกายแต่ว่าใจอย่าร้อน ในเมื่อมันทุกข์ ก็ให้ทุกข์แค่กายแต่ว่าใจอย่าทุกข์ แต่คนส่วนใหญ่ปล่อยให้ทุกข์ทั้งกาย ทุกข์ทั้งใจ ร้อนทั้งกาย ร้อนทั้งใจ แทนที่จะรู้สึกว่าร้อนเท่านั้น ใจมันก็บ่นว่าร้อน ร้อน มีความหงุดหงิด มีความไม่พอใจ เราเห็นไหม เห็นใจที่มันบ่นไหม เห็นใจที่มันหงุดหงิดไหม เห็นใจที่มันโวยวายไหม ถ้าไม่เห็นนี้ขาดทุน เพราะถ้าไม่เห็น มันก็ทุกข์ 2 ต่อ ทุกข์กายด้วย ทุกข์ใจด้วย ร้อนทั้งกาย ร้อนทั้งใจ และถ้าไม่เห็น ไม่เห็นว่าใจมันบ่น ใจมันโวยวายตีโพยตีพาย นอกจากจะแยกไม่ออกระหว่างสัญญา เวทนา และสังขาร ที่สำคัญก็คือ กลายเป็นทุกข์ฟรี ๆ
25 เม.ย. 68 - สงบสยบอารมณ์ : ความอยากมันท่วมท้นใจ ถ้าไม่ได้นี่อัดอั้นมาก แต่ว่าพอมาดูความอยาก ดูเฉยๆ ความอยากมันก็ค่อยๆ ลด ค่อยๆ หายไป กลายเป็นว่าพอไปดูวันที่สี่กลายเป็นเบื่อไปเสียแล้ว ไม่อยากได้แล้ว ความอยากมันหายไปเลย หายไปเพราะอะไร เพราะดูมัน อันนี้เป็นวิธีการรับมือกับอารมณ์ที่มีประโยชน์มาก ไม่ใช่ทำตามมัน แล้วก็ไม่ใช่กดข่มมัน กดข่มมัน มันก็ไม่ไปไหน มันก็จะซ่อนอยู่ข้างใน แล้วพอกดมากๆ ถึงจุดนึงก็ระเบิด คนที่กดข่มความอยาก ไม่ว่าจะเป็นอยากเหล้า หรือว่าอยากบุหรี่ หรือว่าอยากเล่นเกม พอข่มไปมากๆ พอถึงวันนึงมันระเบิดออกมา ก็จมอยู่กับความอยากนั้นเต็มที่เลย อันนี้ไม่ใช่วิธีการที่ดี ได้ผลเป็นผลดีเฉพาะระยะสั้น เช่นเดียวกับความโกรธ โกรธก็กดข่ม มันก็มีผลดีระยะสั้น แต่ถ้าทำไปบ่อยๆ ทำไปนานๆ มันก็ระเบิดออกมา พอระเบิดนี่บางทีเสียหายมากมาย ข้าวของถูกทำลาย หรือว่าด่าเสียๆ หายๆ ทำร้าย ใช้กำลังรุนแรง อันนี้เพราะว่าปรี๊ดแตก เพราะฉะนั้นทางที่ดีคือการที่มาดูมัน เห็นมัน รู้ซื่อๆ ดูมันเฉยๆ ใช้ความสงบสยบอารมณ์
20 เม.ย. 68 - การดูแลด้วยใจและสติ : ความเจ็บป่วยเป็นธรรมดาของชีวิต ไม่มีใครหนีพ้นความจริงข้อนี้ไปได้ แม้พยายามป้องกันเพียงใดก็ตาม ก็ย่อมมีวันที่จะต้องล้มป่วย ในยามนั้นนอกจากการเยียวยารักษากายแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือการดูแลรักษาใจ เพราะความป่วยใจมักเกิดขึ้นควบคู่กับความป่วยกาย บ่อยครั้งความป่วยใจยังซ้ำเติมให้ความป่วยกายเพียบหนักขึ้น หรือขัดขวางไม่ให้การเยียวยาทางกายประสบผลดี แต่หากดูแลรักษาใจให้ดีแล้ว ความทุกข์ทรมานก็จะลดลง อีกทั้งยังอาจช่วยให้ความเจ็บป่วยทุเลาลงด้วย ป่วยกายแต่ไม่ป่วยใจนั้น เป็นไปได้ หากรู้จักวางใจให้เป็น ยิ่งกว่านั้นใจที่มีสติและปัญญา ยังสามารถหาประโยชน์จากความเจ็บป่วยได้ด้วย เช่น ทำให้เกิดความเข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของสังขาร กระตุ้นให้เกิดความไม่ประมาท เร่งสร้างกุศล และทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดในขณะที่ยังมีเวลา ความเจ็บป่วยจึงสามารถเป็นปัจจัยผลักดันให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้จิตใจเจริญงอกงามและเป็นสุข
16 เม.ย. 68 - แผนสำรองของชีวิต : ถ้าได้มารู้วิชาที่ว่านี้คือ วิชายอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจ อย่าไปคาดหวังว่าปฏิบัติธรรมแล้วใจจะสงบ สงบก็ดี แต่ถ้าไม่สงบ เราก็มีแผนสำรอง backup เอาไว้ว่า แม้ไม่สงบ แต่ว่าใจไม่ทุกข์ เพราะยอมรับมันได้หรือเพราะรู้ทันมัน อันนี้คือวิชาหรือแผนสำรองที่คนมักจะไม่ค่อยนึกถึงเท่าไหร่ แม้จะเป็นนักปฏิบัติธรรมก็ตาม เพราะว่าทำไปๆ ก็คาดหวังว่าจะไม่ทุกข์ ไม่หงุดหงิด ไม่หัวเสีย ไม่โมโห ไม่เศร้าไม่โศก แต่พอมันยังเกิดขึ้นอยู่ ก็ไปไม่เป็น จัดการกับมันไม่ได้ นี่เพราะว่าไม่มีแผนรองรับเพื่อรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ แม้ว่าไม่อยากให้มันเกิดขึ้น แต่พอมันเกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยเราก็รู้วิธีที่จะรับมือกับมันได้ อันนี้คือแผนสำรอง หรือตัว backup ที่เราควรจะมีด้วย
15 เม.ย. 68 - เหตุผลของลูก ความทุกข์ของแม่ : คนสมัยก่อนเขาบอก ชีวิตมันสั้นต้องรีบทำความดี อันนี้แหละคือตรรกะที่ถูกเพราะว่าถ้าเราทำความดีมันไม่ใช่แค่ทำให้เราไปสู่สุคติ ถึงแม้ไม่เชื่อว่าจะมีสุคติในภพหน้าแต่อย่างน้อยการทำความดีก็ช่วยทำให้เมื่อจะตายนี่มันไม่ทรมาน เพราะคนเราไม่ได้ตายแบบปุบปับหรือปิดสวิตช์ ต้องใช้เวลากว่าจะตาย แล้วในช่วงนั้นถ้าไม่เตรียมใจมันก็จะมีความทุกข์ทรมานมาก แต่ถ้าเราฝึกจิตเอาไว้ ทั้งทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล แล้วก็ฝึกเจริญมรณสติ รวมทั้งเจริญสัมมาสติด้วย ก็ทำให้เรารับมือกับความทุกข์ก่อนตายได้ แต่ถ้าเกิดว่าเอาแต่ช้อปปิ้ง เอาแต่เที่ยวสนุกสนาน ถึงเวลาป่วยหนักแล้วก็ยืดเยื้อหลายเดือนหรือหลายอาทิตย์ ไม่มีวิชาความรู้ ไม่มีวิชาที่จะรับมือกับความทุกข์ก่อนตายเลย มันจะทรมานมาก ยังไม่ต้องพูดว่าตายแล้วจะไปไหน แต่เดี๋ยวนี้มันก็เป็นตรรกะ ตรรกะที่จะเรียกว่าเป็นมิจฉาตรรกะก็ได้ เพราะมันเป็นเหตุผลของกิเลส ชีวิตนี้สั้น ไม่จีรัง อีกไม่นานก็ตาย เพราะฉะนั้นเสพสุขให้เต็มที่ดีกว่า หรือว่าทำชั่วก็ได้ เพราะตายไปแล้วก็จบ อันนี้ก็เป็นมิจฉาตรรกะ หรือจะเรียกว่าเป็นตรรกะวิบัติก็ได้ แล้วคนก็คล้อยตามเพราะดูมันเป็นตรรกะดี ชีวิตนี้สั้นฉะนั้นเสพสุขให้เต็มที่ ก็ดูเหมือนว่ามีเหตุมีผลแต่ไม่เป็นเหตุผลของกิเลส มันเป็นเหตุผลจำพวกเดียวกัน ในเมื่อพ่อแม่ให้กำเนิดเรามา เพราะฉะนั้นต้องเลี้ยงดูเราให้มีความสุขเต็มที่ แทนที่จะมองว่า เออ พ่อแม่กำเนิดเรามา เพราะฉะนั้นควรจะขอบคุณ ควรจะสำนึกในบุญคุณของพ่อแม่ แต่เขาไม่คิดแบบนี้กันแล้ว แต่นี่ก็ธรรมดา ก็ต้องชี้ให้เห็นว่ามันเป็นตรรกะที่ผิดพลาดอย่างไร ไม่ใช่ตอบโต้ด้วยการด่า มันไม่มีประโยชน์ แต่ต้องหักล้างด้วยเหตุด้วยผล ด้วยการชี้ให้เห็นว่ามันเป็นเหตุผลที่มีแต่จะทำให้เกิดโทษกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
14 เม.ย. 68 - สำเร็จแต่ไม่มีความสุข : อันนี้ก็เป็นบทเรียนคนที่ต้องการความสำเร็จในอาชีพการงาน ต้องการสร้างอาณาจักร คิดว่าถ้าร่ำรวย มีชื่อเสียง แล้วจะมีความสุข อันนี้มันเป็นความฝันลม ๆ แล้ง ๆ เพราะว่าอย่าว่าแต่ความล้มเหลวเลย แม้สำเร็จก็ไม่ใช่มีความสุข ไม่มีความสุขเพราะว่าความสำเร็จที่ว่านี้มันไม่ให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริง เงินทอง ชื่อเสียง และมิหนำซ้ำต้องมีความทุกข์ ทุกข์กับการรักษา ทุกข์กับการรักษาความสำเร็จเอาไว้ ทุกข์กับการรักษาสมบัติหรืออาณาจักรที่สร้างเอาไว้ มันก็เหมือนกับคนมีเงิน มีเงินก็ไม่ได้มีความสุขหรอก เงินไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริง แถมยังต้องทุกข์กับการรักษา แล้วรักษาอย่างไรก็รักษาไม่ได้ เพราะมันต้องเสื่อมไปตามหลักอนิจจัง พอมันหายไปก็ทุกข์ เรียกว่าสุขชั่วคราวแต่ทุกข์ยาวนาน อันนี้มันก็เป็นอุทาหรณ์สอนใจผู้คน แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมเรียนรู้ เพราะคิดว่านั่นเป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าเป็นฉันมันจะไม่เป็นอย่างนั้น แต่พอประสบความสำเร็จจริง ๆ ก็อาจจะพบว่ารู้งี้ ไม่ทำอย่างที่เป็นก็ได้ เหมือนอย่างที่เดวิทท์บอกอยากจะพังทุกอย่างแล้วก็เริ่มต้นใหม่ แต่ทำไม่ได้แล้ว คนเราถ้าหากว่าไม่เจอ ไม่มีประสบการณ์ด้วยตัวเอง บางทีก็ไม่เข้าใจ กว่าจะเรียนรู้ก็สายไปแล้ว แทนที่จะเอาเวลาไปทำสิ่งที่มีค่า พบกับความสุขที่แท้จริง กลับไปเจอกับความสุขปลอม ๆ อย่างที่ธอโรบอกว่า โศกนาฏกรรมของชีวิตก็คือการที่เพียรพยายามทั้งชีวิตเพื่อจะจับปลา แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่ปลาที่ตัวเองต้องการอย่างแท้จริง ได้มาก็จริงแต่ว่าไม่มีความสุข นี่ยังไม่นับประเภทว่าล้มเหลวไม่ได้มา อันนั้นยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ ถ้าวางไม่เป็น
13 เม.ย. 68 - เตรียมพร้อมรับความตายอยู่เสมอ : การเจริญสตินี้มันก็ช่วยเราได้ เราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ ตายเพราะอะไร แต่ถ้าเกิดว่าจะต้องตายเพราะเหตุที่ปัจจุบันทันด่วน สติก็จะช่วยเราได้ ช่วยคุ้มครองใจเราไม่ให้ตื่นตระหนก แล้วก็เมื่อถึงเวลาที่จิตดับ ก็ไปสุคติ อย่างคุณยายท่านนี้แม้ว่าจะตายแบบกะทันหัน แล้วก็ตายแบบไม่สวยในสายตาคนทั่วไป แต่ก็เชื่อว่าคุณยายน่าจะไปดี เพราะว่าตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คุณยายได้ฟังธรรมะแล้วก็เตือนใจตัวเองว่าให้ว่าความตายไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่ากลัว ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท อยู่กับปัจจุบัน ทำให้ดีที่สุด แล้วก็กำลังจะใส่บาตรด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนแต่มีส่วนอำนวยให้ใจของคุณยายเป็นกุศล แล้วก็แม้จะมีเหตุร้าย แต่ว่าก็เชื่อว่าจะไม่ตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วแวบเดียวก่อนที่จะสิ้นลม แม้เราจะไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ แต่ว่าการเจริญสติสำคัญมาก ฝึกใจเอาไว้ พร้อมเผชิญกับทุกอย่างด้วยใจที่สงบ ฉะนั้นก่อนหน้านั้นก็ควรหมั่นทำความดี สร้างบุญ สร้างกุศลอยู่เนือง ๆ ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจที่จะทำให้จิตมันหวนกระหวัดไปถึงตอนที่จะตาย ไม่ใช่ว่าตอนจะตาย ไปนึกถึงลูก นึกถึงทรัพย์สมบัติ นึกถึงความผิดพลาดที่เคยทำกับพ่อแม่ แบบนั้นก็คงจะไปไม่ดี แต่ถ้าจิตนี้ผ่องใส มีสติ ยิ่งสวดมนต์อยู่บ่อย ๆ ถึงเวลาตอนนั้นก็อาจจะนึกถึงบทสวดมนต์ กำกับจิตให้สงบได้ ก็แน่นอนว่าไปดีแน่ แม้ว่าจะไปแบบกะทันหันแบบนี้ก็ตาม
12 เม.ย. 68 - ปรับจิตให้พอดี : หน้าที่ของครูบาอาจารย์ คือทำให้อยู่พอดี ๆ ซึ่งตรงนี้คือเหตุผลว่าทำไมคนเราควรจะมีอาจารย์ อาจารย์ที่จะช่วยตบให้เราไม่เหวี่ยงไปทางใดทางหนึ่ง ซึ่งอันนี้มันมีแต่อาจารย์ที่เป็นมนุษย์ที่จะทำได้นะ ทุกวันนี้เราพูดถึง AI นะ AI สอนธรรมะนี่ตอนนี้มีเยอะแยะ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ AI ทำไม่ได้ ก็คือไม่รู้ว่าคนใช้เขามีจริตนิสัยอย่างไร เขาเอียงไปทางไหน แล้วจะแนะนำเขาให้กลับมาอยู่ในความพอดี หรืออยู่ในทางสายกลางได้อย่างไร AI ทำไม่ได้นะ AI ได้แต่ตอบได้ว่าอนัตตาคืออะไร สติคืออะไร สัมปชัญญะคืออะไร แต่เวลาจะแนะนำการปฏิบัติให้มันถูกกับจริตนิสัย AI คงยังทำไม่ได้อีกนาน แล้วอาจจะทำไม่ได้เลย เพราะไม่รู้ว่าคนใช้เขามีจริตนิสัยอย่างไร เขามีความสุดโต่ง ความเอียงไปทางไหน เพราะฉะนั้นจะแนะนำให้เขาอยู่ในความพอดีนี่มันยาก แต่คนนี้ทำได้ โดยเฉพาะถ้าคนที่เป็นระดับครูบาอาจารย์ เขาก็จะสามารถทำในสิ่งที่มันไม่มีอยู่ในตำราก็ได้ แต่อาศัยความสามารถเฉพาะตัว เรียกว่าทำไม่อยู่ในแบบแผน ครูบาอาจารย์บางท่านนี่สอนลูกศิษย์ด้วยการถีบเลยนะ ไม่ใช่เฉพาะเซนอย่างเดียวนะ หลวงพ่อชาท่านก็ถีบเหมือนกัน AI ไม่ทำ AI ทำไม่เป็น เพราะคิดว่าหรือเพราะถูกสอนมาว่าการถีบนี่ไม่ดี แต่ว่าลูกศิษย์บางทีก็ถูกอาจารย์ถีบ แล้วก็บรรลุธรรมก็มี
11 เม.ย. 68 - พื้นที่ปลอดภัยอยู่ที่ใจเรา : ถ้ามีความสุขเป็นตัวรองรับ มันก็ช่วยหนุนสติและปัญญาที่ทำให้รักษากายรักษาใจของเราให้ปลอดภัยได้ ใจเราจะไม่มีความปลอดภัยเลยถ้าขาดสติ ขาดปัญญา เป็นตัวเป็นเครื่องรักษา อยู่ที่ไหนก็ไม่ปลอดภัยแม้แต่อยู่ในบ้าน แม้แต่อยู่ในห้องนอนก็ไม่ปลอดภัย อันนี้ไม่ใช่เฉพาะเด็กอย่างเดียว ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน แต่สิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตเราปลอดภัยก็คือ ใจที่มีสติ ใจที่มีปัญญา พื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดก็คือ จิตที่มีสติ มีความรู้สึกตัวครอบครองใจ ตราบใดที่ถ้าใจยังไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว เพราะขาดปัญญาหรือสติเป็นตัวกำกับแล้ว อยู่ที่ไหนก็ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในยุคนี้ สื่ออินเตอร์เน็ตแพร่ไปทั่ว และไม่ใช่เฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ตอย่างเดียว สิ่งแวดล้อมด้วย พวกมิจฉาชีพเดี๋ยวนี้มันก็อยู่กระจายไปทั่ว ฉะนั้นจะว่าไปแล้วถ้าเราต้องการชีวิตที่ผาสุก มันต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัยในใจของเรา ทำบ้านให้เป็นที่ปลอดภัยก็ได้ แต่ว่ามันก็ยังไม่ปลอดภัยอย่างแท้จริงจนกว่าใจเรานี้จะมีสติ มีปัญญา และมีความสุขที่ประณีตเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ถ้าไม่มีตรงนี้ก็ยังเรียกว่าชีวิตยังอยู่ในความเสี่ยง แม้จะเรียนจบหลายปริญญา แม้จะมีความรู้เยอะแต่ก็เอาตัวไม่รอด ที่เขาเรียกว่าความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด เพราะมันขาดสิ่งหนึ่งคือขาดความรู้สึกตัว แล้วความรู้สึกตัวจะมีได้เพราะมีสติและปัญญาเป็นเครื่องกำกับ เพราะฉะนั้นในยุคนี้การที่มีธรรมะโดยเฉพาะสติและปัญญา เรียกว่าเป็นหลักประกันเลยที่จะทำให้ชีวิตนี้มีความผาสุก ไม่ใช่ไม่มีอุปสรรค มี แต่ว่าก็สามารถจะผ่านมันได้ ไม่ใช่ว่าไม่เจ็บไม่ป่วย ยังต้องเจ็บต้องป่วย แต่ว่ามันก็ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย ไม่ได้คับแค้นใจ
10 เม.ย. 68 - ไม่รักษาใจก็ไม่รักตัวเอง : ถ้าขอโทษมันก็สบายใจ แต่พอไม่ขอโทษ ความขัดแย้งมันก็เลยยืดเยื้อเรื้อรัง ฉะนั้นถ้าหากว่าพวกเราไม่อยากโง่เพราะความโกรธ ก็ต้องพยายามดูแลใจให้มีอัตตาน้อยๆ เหมือนกับพ่อค้าแผงขายหนังสือ คนมาดูหนังสือแต่ไม่ซื้อเลยสักเล่ม ก็ไม่โกรธ เพราะไม่ได้ยึดมั่นว่าตัวกูของกู แถมเวลาเขาลำบากก็ช่วยเขา ตัวเขาเปียกปอน ก็ยื่นถุงพลาสติกให้ นี่คือวิธีการสร้างมิตร ถ้าเราโกรธ เราก็มีแต่จะเสียมิตร เสียเพื่อน แล้วก็ทำร้ายตัวเอง แต่ถ้าเราไม่โกรธ เราจึงจะเรียกว่ารักตัวเองอย่างแท้จริง.พวกเรานี่ต้องรักตัวเองให้เป็น เพราะถ้าเรารักไม่เป็น เราจะทำร้ายตัวเอง ด้วยความโกรธ ด้วยความกลัว เพราะจิตที่ไม่มีการดูแลรักษาให้ดี แต่ถ้าจิตเรามีการรักษา มีการดูแล ความโกรธไม่ครอบงำ ความกลัวไม่มารังควาน เราก็จะรักตัวเองได้อย่างแท้จริง