เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด โดย อาจวรงค์ จันทมาศ
ความเชื่อนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตในแนวทางที่แตกต่างกัน ในโลกเรามีคนจำนวนมากมายใช้ประโยชน์จากความเชื่อในแง่ต่างๆ ทั้งในการโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าหรือถ้าเป็นด้านลบก็คือการหลอกลวงผู้อื่น รายการวัคซีนตอนนี้ซึ่งเป็นรายการตอนสุดท้ายแล้ว จะพาทุกท่านไปพูดคุยกับอาจารย์ กิตติศักดิ์ โถวสมบัติ ผู้เป็นอาจารย์ด้านปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อทำความเข้าใจกับความเชื่อของมนุษย์ในแง่มุมเชิงปรัชญา เพื่อที่ฟังแล้วทุกท่านอาจจะฉุกคิดเวลามีคนมาโน้มน้าวและเข้าใจความเชื่อในแง่มุมต่างๆมากขึ้นครับ
ทักษะการคิดเพื่อวิเคราะห์และตัดสินว่าเราจะเชื่อเรื่องไหนบ้างมีความสำคัญยิ่งในยุคนี้ หนึ่งในทักษะที่ว่าคือ critical thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) รายการในตอนนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ critical thinking ว่ามันคืออะไร ,จะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร และสิ่งใดเป็นอุปสรรคต่อการสร้าง critical thinking บ้าง
ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตซึ่งแบ่งออกเป็นหลายด้าน แต่ในภาพรวม นักประวัติศาสตร์ใช้การเก็บรวบรวมหลักฐานจำนวนมาก มาพิจารณาประกอบกันจนเกิดเป็นแนวทางหลัก อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด หรือวิทยาศาสตร์เทียม อาจสร้างเรื่องราวที่เรียกว่า ประวัติศาสตร์เทียม ขึ้นมา โดยไม่ได้มีหลักฐานที่หนักแน่นรองรับ รายการในตอนนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักเรื่องราวเหล่านี้กันครับ
โฆษณา คือการเสนอข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการเพื่อการขาย โดยมันเป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์เรามานานมากแล้ว และวิวัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราๆต้องรู้จักก็คือ False advertising ซึ่งเป็นการโฆษณาแบบที่ชวนให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด หรือ นำข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์มาใช้ในการโฆษณา รายการในตอนนี้จึงมุ่งเน้นรวบรวมโฆษณาแบบที่ควรตั้งคำถาม ควรตั้งข้อสงสัยและควรสังเกตไว้เป็นกรณีศึกษาครับ
ข่าวปลอมที่แพร่กระจายอยู่บนโลกของเรา มีหลายเรื่องที่ถูกเล่าในรูปทฤษฎีที่เกิดจากการจับเรื่องสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาผสมกัน แล้วสร้างคำอธิบายขึ้นมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น การนำวิทยาศาสตร์ มาเชื่อมโยงกับความเชื่อหรือลัทธิ ด้วยการกล่าวอ้างต่างๆนานา เป็นต้น ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า Apples and oranges ที่หมายถึงการนำของสองอย่างที่แตกต่างกันจนเปรียบกันไม่ได้ มาเปรียบเทียบกัน มาดูกันครับว่าข่าวปลอมลักษณะนี้มีอะไรบ้าง
ภาพยนตร์เป็นหนึ่งในสื่อที่เข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมาก ด้วยเนื้อเรื่องที่สนุก และ ภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งความง่ายในการรับชม อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์บางกลุ่มมีการนำเสนอเนื้อเรื่องที่ดูสมจริง หรือ ใช้บรรยากาศองค์ประกอบต่างๆทำให้เนื้อเรื่องดูน่าเชื่อถือ แต่ความเป็นจริง มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น รายการในตอนนี้จะพาทุกท่านไปคุยกันว่าภาพยนตร์อะไรบ้างที่นำเสนอความจริงแบบไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อน เพื่อที่ดูแล้วจะได้ไม่เข้าใจผิดครับ
ลัทธิหรือกลุ่มความเชื่อบางอย่าง มีความเชื่อว่า คนบางคนสามารถรับรู้เหนือประสาทสัมผัสร่างกายอย่างการการเห็น ได้ยิน รสชาติ กลิ่น และการรับสัมผัส ได้ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า ESP หรือ extrasensory perception ส่วนภาษาไทยเองก็อาจจะใช้คำว่า สัมผัสที่หก หรือ เรียกรวมๆว่า พลังจิต ซึ่งบางครั้งก็มีการแบ่งออกเป็นความสามารถด้านอื่นๆมากมายแล้วแต่ความเชื่อ เช่น ย้ายสิ่งของวัตถุจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ในพริบตา , ยกหรือเคลื่อนวัตถุให้ลอยได้โดยไม่ใช้ความสามารถกายภาพ , ติดต่อพลังงานหรือวิญญาณได้ , มองเห็นอดีตกาลหรืออนาคต ,มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะไกลมากๆหรือมองทะลุวัตถุ, ควบคุมความคิดคนอื่นๆได้ , รับรู้ความคิดของคนอื่นๆได้ และมีบางส่วนเชื่อว่าพลังจิตรักษาโรคได้ รายการในตอนนี้ผมจะเล่าให้ฟังถึงการศึกษาพลังจิตในมุมของนักวิทยาศาสตร์เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นภาพกว้างที่สุดและมีความเข้าใจในเรื่องนี้มากที่สุดครับ
การเลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ทุกวันนี้ ข่าวปลอมเรื่องอาหารการกิน อาหารเสริมสุขภาพนั้นมีมากมาย รายการในตอนนี้จึงพาทุกท่านไปคุยกับ รศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการแห่งสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อที่เราจะได้เข้าใจเรื่องอาหารการกินอย่างถูกต้องครับ
ความบังเอิญ (coincidence) หมายถึงเหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันโดยไม่ได้มีสาเหตุของการเกิดร่วมกัน หลายๆครั้งดูเหมือนเกิดขึ้นได้ยาก ทำให้เกิดความรู้สึกทึ่ง รู้สึกพิเศษ และน่าแปลกใจ ซึ่งความรู้สึกทึ่งนี้เอง อาจกระตุ้นให้ผู้ประสบเหตุบังเอิญเกิดความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือ เชื่อมโยงเหตุการณ์ทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น ตัวอย่างเรื่องบังเอิญที่ทุกท่านน่าจะเคยประสบ คือ เมื่อคิดถึงใครสักคน แล้วคนๆนั้นโทรมาพอดี หรือ ตอนรถติด แล้วนึกอยากให้ไฟแดงเปลี่ยนเป็นเขียว แล้วสัญญาณไฟก็เปลี่ยนพอดี นัดกับเพื่อนฝูง แล้วทุกคนใส่เสื้อสีเดียวกันหมด วันนี้เรามาคุยเรื่องความบังเอิญในมุมมองของคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้เข้าใจมันและเป็นประโยชน์ต่อการคิดเรื่องอื่นๆมากขึ้นครับ
วิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการที่ใช้ศึกษาและอธิบายธรรมชาติได้อย่างยอดเยี่ยม ตั้งแต่ การเกิดสุริยุปราคาที่น่าหวาดหวั่น การเกิดรุ้งกินน้ำ ฟ้าแลบและฟ้าผ่า แสงออโรรา ฯลฯ แต่เรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังในรายการตอนนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่บ่อยครั้งมันถูกตีความว่าเป็นเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ เช่น หินอุกกาบาต หรือแสงกระสือ ซึ่งมักจะชักนำให้เกิดข่าวปลอมชวนตื่นเต้นอยู่บ่อยๆครับ
ปัจจุบันการรักษาแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์เทียมนั้นมีมากมายหลายรูปแบบ (ถ้านับรวมการกินของแปลกๆเพื่อรักษาโรคร้ายแรงแล้วยิ่งเยอะมากๆ) รายการในตอนนี้รวบรวมการรักษาที่ไม่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเหล่าแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ต่างไม่แนะนำให้รับการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ครับ
เวลามีคนเล่าประสบการณ์แปลกๆ (ถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวไป หรือพบเห็นภูติผี ฯลฯ) ทำไมนักวิทยาศาสตร์จึงไม่นับว่านี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ต่างดาวหรือภูติผีมีอยู่จริง วันนี้ผมจะเล่าให้ฟังครับว่า ทำไมเรื่องเล่าขานจากประสบการณ์ในลักษณะนี้จึงไม่ใช่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ผ่านกรณีศึกษาเรื่อง ผีอำ และ ความทรงจำเท็จ ครับ
ยา เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่การใช้ยาไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดผลเสีย หรือทำให้ประสิทธิภาพของยาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น วันนี้มาคุยกับ ดร.ภก. ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง เรื่องหลักการใช้ยาอย่างถูกต้อง 5 ประการ รวมทั้งเกร็ดน่าสนใจเกี่ยวกับงานด้านเภสัชกรรม แนะนำให้น้องๆที่สนใจเรียนด้านนี้ลองฟังครับ มีประโยชน์มาก
อินเทอร์เน็ต เป็นโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูล ความรู้ รวมทั้งโอกาสในการสร้างสรรค์และทำงาน แต่อีกด้านหนึ่ง โลกอินเทอร์เน็ตกลับท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวปลอม การปลุกปั่น การขโมยข้อมูล และ เรื่องชวนเข้าใจผิดมากมาย รายการในตอนนี้จะมาคุยเรื่องการอาศัยอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยกันครับ
เมื่อเราพบเห็น ผู้ที่กล่าวอ้างว่าสามารถอ่านใจคนอื่นได้อย่างแม่นยำ เรามักงุนงงสงสัยว่าเขารู้ได้อย่างไร? คำอธิบายแรกคือ เขาเป็นผู้มีพลังพิเศษบางอย่าง ทำให้สามารถล่วงรู้ถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเรา รวมทั้งบุคลิกอัธยาศัยของเราได้อย่างน่าทึ่ง คำอธิบายที่สอง คือ เขาใช้เทคนิคบางอย่างในการทำให้เราเชื่อว่าเขาอ่านใจเราได้ ซึ่งรายการในตอนนี้จะชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของคำอธิบายในแง่นี้ หนึ่งในปรากฏการณ์ที่ทำให้การอ่านใจสัมฤทธิ์ผล เรียกว่า Barnum effect ครับ
ภาวะโลกร้อน (Global warming) เป็นข้อสรุปที่ได้จากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก โดยงานวิจัยเหล่านี้ล้วนชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าโลกร้อนขึ้นจริงๆ แต่กลับมีคนจำนวนมากเชื่อว่าภาวะโลกร้อนเป็นข่าวปลอม โดยบางส่วนเชื่อว่าโลกไม่ได้ร้อนขึ้น , บางส่วนเชื่อว่าโลกร้อนขึ้นจริง แต่ไม่ได้เป็นผลมาจากมนุษย์ และไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง รายการในตอนนี้จะเล่าให้ทุกท่านฟังว่าภาวะโลกร้อนคืออะไรและหลักฐานใดทำให้นักวิทยาศาสตร์มั่นใจว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องจริง
รายการในตอนนี้จะเล่าให้ทุกท่านฟังถึงความเข้าใจผิดที่แฝงตัวอยู่ในการเรียนการสอน ซึ่งมักจะถูกถ่ายทอดอย่างยาวนานจนกลายเป็นหนึ่งในความเข้าใจผิดที่พบเห็นได้ทั่วไปทั่วโลก ผมได้เลือกความเข้าใจผิดที่เกี่ยวกับการศึกษาโดยเน้นไปที่วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต โดยแบ่งเป็นหัวข้อใหญ่ๆคือ 1. ความเข้าใจผิดที่เกิดจากชื่อเรียกและคำศัพท์ 2. วิวัฒนาการ 3.ร่างกายมนุษย์ ลองฟังครับ จะได้ไม่เข้าใจผิดกัน ^^
สถิติ (Statistics) เป็นคณิตศาสตร์สาขาหนึ่งที่ช่วยในการศึกษาและจัดการกับข้อมูล ที่หลายคนต้องเรียน เพราะมันช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลได้เป็นอย่างดี แต่ รายการในตอนนี้จะเล่าให้ฟังว่า บางครั้งสถิติอาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิดได้ มาร์ค ทเวน นักเขียนชาวอเมริกัน เคยกล่าวไว้ว่า " การโกหกนั้นมีสามแบบ 1.โกหกเฉยๆ 2. โกหกคำโต 3. สถิติ" ดังนั้นเมื่อเราได้ยินการอ้างข้อมูลเชิงสถิติ ก็ต้องระมัดระวังไว้บ้าง รวมทั้งเมื่อเราจำเป็นต้องทำการเก็บรวบรวมค่าเชิงสถิติด้วยตนเองจะได้ก็จะได้ป้องกันความผิดพลาดได้ด้วยครับ
เมื่อพูดถึงข่าวปลอมในเมืองไทย หนึ่งในบุคคลที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ที่สุดต้องมีชื่อ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ (หรือ อาจารย์เจษ) เป็นแน่ เพราะท่านจะสื่อสารให้สังคมรู้อยู่เสมอว่าอะไรเป็นข่าวปลอม โดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาอธิบาย แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าอาจารย์เจษ เริ่มต้นงานสายนี้ได้อย่างไร อะไรเป็นแรงผลักดัน รวมทั้งทุกวันนี้ อะไรคือความท้าทายของงานสื่อสารวิทยาศาสตร์เพื่อต่อต้านความรู้ผิดๆที่เกิดขึ้นในสังคม ที่สำคัญคือ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่อาจารย์ทำงานด้านนี้มา เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆในเรื่องนี้บ้าง รายละเอียดจะเป็นอย่างไร อยากให้ลองรับฟังในรายการตอนนี้ครับ
ข่าวปลอมด้านการแพทย์ ที่หลายอย่างเป็นอันตราย และหลายอย่างแม้จะไม่อันตรายโดยตรง แต่การเสียเวลาไปรักษาด้วยวิธีที่ไม่ได้ผลอาจทำให้อาการของโรครุนแรงจนกลับมารักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ไม่ทันการได้ รายการตอนนี้จึงบอกเล่าให้ทุกท่านได้รู้จักการรักษาที่ไม่ได้รับการยอมรับจากวงการแพทย์ปัจจุบัน โดยเน้นไปที่ความเชื่อเรื่องพลังลี้ลับเหนือธรรมชาติ ได้แก่ พลังจักรวาล , Crystal healing , Faith healing ,พลังจิตรักษาโรค , การรักษาเชิงออร่า และ พลังลับของพีระมิด
ดวงจันทร์ เป็นวัตถุท้องฟ้าที่สว่างและมีความโดดเด่น มันจึงมีเรื่องเล่าขาน ตำนานปะปนมากับมีความเชื่อผิดๆและข่าวปลอมมากมาย ซึ่งรายการในตอนนี้จะเน้นไปที่สองเรื่อง นั่นคือ 1. Lunar effect ที่เชื่อว่าการเกิดข้างขึ้นข้างแรม นั้นส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจมนุษย์ได้ 2. ทฤษฎีสมคบคิดเรื่องการไปเยือนดวงจันทร์ ที่ออกมากล่าวว่าการเดินทางไปยืนบนพื้นผิวดวงจันทร์ของโครงการอะพอลโลไม่ใช่เรื่องจริง หลักฐานต่างๆทั้งภาพถ่ายและวีดีโอเกิดจากการถ่ายทำบนโลกของเรา มาฟังกันให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งไปเลยครับว่าความจริงในเรื่องนี้คืออะไร
การอ้างเหตุผลแบบวิบัตินั้นพบเจอได้บ่อยๆในชีวิตประจำวัน รายการตอนนี้พาไปรู้จักการอ้างเหตุผลแบบวิบัติที่ควรศึกษาไว้เพื่อไม่ให้คล้อยตาม ได้แก่ 1. Argument from authority การอ้างว่าสิ่งนั้นเป็นจริงเพราะ บุคคลผู้เชี่ยวชาญ ผู้น่าเชื่อถือ คิดเห็นว่ามันจริง 2. Argumentum ad populum การอ้างว่าสิ่งนี้จริง เพราะ คนส่วนมากเชื่อกันว่าจริง 3. Argumentum ad antiquitatem การอ้างเหตุผลว่าสิ่งนี้ถูกต้องเพราะทำกันมานานแล้ว หรือทำกันอยู่เป็นประจำ 4. Post hoc ergo propter hoc คือ ความเชื่อว่าสิ่งที่เกิดก่อน เป็นเหตุของสิ่งที่เกิดทีหลัง อย่างแน่นอน 5. Argument from Ignorance การอ้างว่าสิ่งนี้จริง เพราะยังไม่มีการพิสูจน์หักล้างว่ามันไม่จริง (และในทางกลับกันด้วย) ส่วนรายละเอียดและตัวอย่างลองรับฟังในรายการตอนนี้ได้เลยครับ
ย้อนกลับไปไม่นานนัก แนวคิดเรื่องโลกแตกในปี ค.ศ. 2012 เป็นเรื่องที่โด่งดังมาก ผู้ที่เชื่อในเรื่องนี้ มีการกล่าวอ้างว่าปฏิทินมายันโบราณทำนายไว้ หลังจากปี 2012 ข่าวปลอมเกี่ยวกับวันสิ้นโลก ก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ ซึ่ง มักกล่าวอ้างสาเหตุการทำลายล้างโลกที่แตกต่างกันออกไปดังนี้ 1. วัตถุนอกโลกพุ่งเข้าชนโลก 2. น้ำท่วมโลก 3.ดาวเคราะห์เรียงตัว ข่าวปลอมเหล่านี้มัก มีการนำเรื่องจริง มาผสมกับเรื่องไม่จริง ซึ่งเรื่องจริงจะช่วยส่งเสริมให้เรื่องเหล่านี้ดูน่าเชื่อถือขึ้น รายการตอนนี้จะเล่าให้ฟังว่าในแต่ละกรณีว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ปรากฏการณ์พลาซีโบ (Placebo effect) เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้ป่วยไม่รู้ว่าตนเองได้รับการรักษาหลอกๆ แต่ผู้ป่วย "บางราย"มีอาการดีขึ้นจริงๆ โดยส่วนมากจะเป็นการหายปวดหรือปวดลดลง บางรายอาจมีอาการนอนไม่หลับจากความเครียดลดลง อาการประเภทเหน็ดเหนื่อยหรือคลื่นไส้ลดลงได้ แต่มันไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรค นักวิทยาศาสตร์ค้นพบปรากฏการณ์นี้ได้อย่างไร รวมทั้งพวกเขาจะผลที่เกิดจากปรากฏการณ์พลาซีโบกับประสิทธิภาพของยาได้อย่างไร ผมเล่าให้ฟังไว้ในรายการตอนนี้ครับ
อาจารย์โก้ ดร.พงศกร สายเพ็ชร์ ผู้ทำช่องสอนวิทยาศาสตร์คุณภาพ "วิทย์พ่อโก้" จะเล่าให้ฟังว่า Cognitive bias ซึ่งเป็นวิธีคิดลัดและเอนเอียง จนส่งผลต่อการตัดสินใจของเราคืออะไร? พร้อมยกตัวอย่าง เช่น confirmation bias, ความเอนเอียงจากการอยู่รอด (Survivorship bias) , ปรากฏการณ์ดันนิง–ครูเกอร์ (Dunning–Kruger effect) ,Hindsight bias และเราจะระมัดระวังความคิดเหล่านี้ได้อย่างไร เป็นตอนที่ยาว แต่โดยส่วนตัวผมว่าดีมากที่สุดตอนหนึ่งครับ
แม้ทุกวันนี้ เราจะรู้กันดีว่าโลกกลม แต่มีคนจำนวนหนึ่งหนึ่งรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมอ้างเหตุผลต่างๆนานามาโน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อว่า โลกของเราแท้จริงแล้วเป็นแผ่นแบนๆ ซึ่งขัดกับความจริงทางวิทยาศาสตร์ รายการตอนนี้จะรวมวิธีพิสูจน์ว่าโลกกลม ตั้งแต่การสังเกตธรรมชาติ จนถึงการใช้อุปกรณ์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆในการช่วยพิสูจน์ว่าโลกกลม เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจแบบแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ไปเลย
สมองเป็นอวัยวะที่อยู่ในกะโหลกศีรษะ มีหน้าที่สำคัญมากมายโดยเฉพาะการคิด การใช้เหตุผล การเกิดของอารมณ์ จนกล่าวได้ว่าสมองนั้นมีความซับซ้อนและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อบุคลิกภาพและตัวตนของคนๆหนึ่ง ความรู้หลายอย่างเกี่ยวกับสมองเพิ่งถูกค้นพบไม่ถึงร้อยปีมานี้ แต่มีทฤษฎีมากมายที่อธิบายสมองอย่างผิดๆ จนถึง กล่าวอ้างในสิ่งที่ยังไม่ได้รับการยืนยันและไม่มีหลักฐานชัดเจน จนกลายเป็นกลุ่มข่าวปลอมที่ต้องมาคุยกันในรายการตอนนี้ เช่น - Phrenology ศาสตร์ที่มีความเชื่อว่า รูปทรงของกะโหลกศีรษะ มีความเชื่อมโยงกับลักษณะสมอง - Mozart effect ที่กล่าวอ้างว่าการให้เด็กฟังเพลงคลาสสิกของโมสาร์ทจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมอง - อาหารหรือยาเสริมสติปัญญา ที่กล่าวอ้างสรรพคุณว่าสามารถเพิ่มความจำ , ประสิทธิภาพในการตัดสินใจ , ความคิดสร้างสรรค์ได้ สามารถรับฟังรายละเอียดทั้งหมดได้ในรายการตอนนี้ครับ
วิทยาศาสตร์เป็นคำที่หลายคนคุ้นหู และเป็นวิชาที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก แต่การแยกแยะวิทยาศาสตร์ออกจากสิ่งที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อน นักปรัชญาชาวออสเตรียชื่อ Karl Popper เสนอหลักการที่ใช้แยกวิทยาศาสตร์ออกจากวิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) โดยทฤษฎีที่เป็นวิทยาศาสตร์จะถูกพิสูจน์ว่าผิดได้ หลักการดังกล่าวเรียกว่า falsifiability รายการตอนนี้จะเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์เทียมให้ฟังอย่างละเอียด รวมทั้งยกตัวอย่างวิทยาศาสตร์เทียมที่น่าสนใจให้ฟังในตอนท้าย
การตัดสินใจในชีวิตประจำวันของเราไม่ได้สมเหตุสมผลไปหมดทุกครั้ง และบ่อยครั้งเราอาจถกเถียงกัน โดยไม่ได้ใช้ตรรกะที่ถูกต้องรัดกุม รวมทั้งรับรู้ข้อมูลแล้วตัดสินใจเชื่ออย่างไม่ระมัดระวัง ตรรกะ (Logic) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาการให้เหตุผล มันเป็นส่วนหนึ่งของวิชาปรัชญา และถูกศึกษาเพื่อเพิ่มความสามารถเชิงวาทศิลป์และช่วยในการโต้งเถียงกับมนุษย์ผู้มีตรรกะวิบัติ (Fallacy) ตรรกะวิบัติ (Fallacy) เป็นการให้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล และมีหลากหลายรูปแบบ วันนี้ผมจะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับตัวอย่างของตรรกะวิบัติแบบต่างๆ เพื่อสร้างความรอบคอบ รัดกุมทางความคิด เพื่อการพิจารณาเรื่องต่างๆว่าเราควรเชื่อมันหรือไม่
การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สร้างความกังวลไปทั่วโลก แต่สิ่งหนึ่งที่น่ากลัวไม่แพ้ไวรัส คือ ข่าวปลอมที่แพร่ไปแบบไวรัลตามสื่อโซเชียล ซึ่งมีอยู่มากมายจนต้องนำมารวบรวมไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดแพร่กระจายไปเป็นวงกว้าง โดยแบ่งได้หลากหลายตั้งแต่ข่าวปลอมเกี่ยวกับสถานที่ติดเชื้อ จนถึง วิธีป้องกันตัว ตรวจสอบ หรือรักษาผิดๆ ฟังแล้วจะได้มีแนวทางในการระมัดระวังข่าวปลอมเรื่องไวรัสโคโรนามากขึ้น และไม่แชร์ข่าวปลอมต่อจนผู้คนรอบข้างเกิดความเข้าใจผิดมากมาย
คุณหมอเอ้ว -ชัชพล เกียรติขจรธาดา นักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ระดับ Best seller มาเล่าให้ฟังว่า ความเชื่อว่าการสวนล้างลำไส้ทำให้สุขภาพดีนั้นมีที่มาอย่างไร? และทำไมปัจจุบัน มันจึงไม่ได้รับความน่าเชื่อถือทางการแพทย์ รวมทั้งสรุปปิดท้ายว่า ข่าวปลอมในวงการแพทย์นั้นมีมากมาย แล้วเราควรเสพข้อมูลอย่างไร ?
เครื่องจักรนิรันดร์ ที่สามารถผลิตพลังงานได้อย่างไร้ที่สิ้นสุดนั้นเป็นข่าวคราวออกมาบ่อยๆ (แม้แต่ในเมืองไทยเราก็มีเป็นระยะ) นับเป็นข่าวปลอมที่หลอกให้เราเสียทรัพย์ไปโดยไม่เกิดประโยชน์อันใด รายการตอนนี้ ยกกรณีศึกษาเรื่อง เครื่องจักรนิรันดร์ (Perpetual motion machine) โดยอธิบายให้ฟังว่า เหตุใดมันจึงไม่มีทางถูกสร้างขึ้นได้จริง รวมทั้งอธิบายกฎของเทอร์โมไดนามิกส์แบบเข้าใจง่ายๆให้ผู้ฟังเข้าใจธรรมชาติของพลังงานและความร้อนมากขึ้นด้วย
ข่าวปลอมจำนวนมากเกิดจากการกลั่นแกล้ง แผลงๆของคนบางกลุ่ม เราจะคัดกรองเรื่องเหล่านี้ออกไปได้อย่างไร ? รายการตอนนี้ ยกกรณีศึกษาเรื่อง Crop Circle หรือ วงกลมปริศนากลางท้องทุ่ง รวมทั้งวีดีโอการผ่าชันสูตรเอเลี่ยน มาวิเคราะห์ด้วยหลักการใบมีดโกนของอ็อคแคม เพื่อกระตุ้นให้ผู้ฟังแยกแยกและคิดได้ว่าเมื่อเจอเรื่องในลักษณะนี้อีกควรตัดสินใจเชื่อหรือไม่
เจาะลึกความจริงของภาพถ่ายและวีดีโอยูเอฟโอว่ามันเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ รวมทั้งอธิบายกรณีศึกษาเรื่องคลองและใบหน้าบนดาวอังคารว่าเกิดจากอะไร?
เรียนรู้ว่าวัคซีน (Vaccine) มีต้นกำเนิดอย่างไร ? รู้จักลัทธิต่อต้านวัคซีน ซึ่งเป็นข่าวปลอมเก่าแก่ที่ยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้คืออะไร? รวมทั้งวิธีการป้องกันตัวจากข่าวปลอมด้านสุขภาพ
ข่าวปลอม คืออะไร? มีกี่ประเภท? และเราจะแยกแยะ วิเคราะห์มันได้อย่างไรบ้าง