รายการวิเคราะห์การเมืองภายใต้ความร่วมมือกับสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เพื่อวิเคราะห์บอกเล่าการเมืองผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเล่าบรรยากาศการเมืองในปัจจุบัน และมองหานวัตกรรมใหม่ๆของการเมืองไทยและการเมืองโลก
จบไปแล้วกับงานมหาสงกรานต์ทั่วประเทศ ที่มีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ต้อนรับนักท่องเที่ยวสมกับเป็นเมืองที่เน้นด้านการท่องเที่ยวแบบประเทศไทย คาดว่าสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศและเป็นหน้าตาให้กับประเทศไทยได้อย่างมาก จึงคาดหวังให้ประเทศไทยสามารถทำอย่างนี้ได้ตลอดไป เพื่อเป็นลายเซ็นของการท่องเที่ยวไทย ให้ยกระดับสู่สากล เมื่อพูดถึงเรื่องรายได้ จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้น การพูดถึงการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นเรื่องร้อนแรงเขย่าโลกของประธานธิบดีโดนัล ทรัมป์ เราจึงมามองในมุมมองของการขึ้นภาษีในแบบที่มันเป็น มากกว่ามองในเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากการเจรจาต่อรองในแง่นี้ ไม่อาจมีระเบียบแบบแผนเหมือนการเจรจาในทั่วไป การดำเนินการของทรัมป์อาจเป็นการฉีกตำราทุกเล่ม เราจุงอาจต้องทำความเ้ขาใจผ่านสายพานการผลิตทั่วโลก (global supply chain) และการแบ่งงานกันทำ (global division of labour) ของโลกแห่งเศรษฐกิจเน้นส่งออก (export-based economy) เป็นต้นมา ทำให้เข้าใจถึงหลักการของและเหตุผลที่ทำให้บางคนหวงแหนการค้าเสรี (free trade)
แผ่นดินไหวที่ผ่านมา เราเห็นความพยายามและตั้งใจของทีม ผู้ว่าฯ กทม. ที่ทำได้ดีในเรื่องของการสื่อสารและการช่วยเหลือผู้ประสบภัย .แต่ในอีกด้านหนึ่ง กทม. เป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ ที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เป็นคนที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย จึงไม่ได้เป็นผู้ว่าที่แข็งแกร่งแต่เพียงภาพที่เป็นไวรัลทางโซเชียลมีเดีย แต่ยัง "แข็งแกร่ง" จากการสนับสนุนจากประชาชนผู้ไปเลือกตั้ง และประชาธิปไตย แต่จากคลิปการประชุมสภากรุงเทพ เราได้เห็นว่า ตัวชัชชาติเอง ไม่สามารถดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณบางประการได้ เนื่องจากไม่ผ่านการพิจารณาจากสมาชิกสภากรุงเทพ (สก.) บางท่าน .การมีการเลือกตั้งทางตรง แม้จะมีข้อดีในการได้ผู้นำจากประชาชนเลือกตั้งโดยตรง แต่หากขาดการสนับสนุนในสภา ก็ยากที่จะดำเนินนโยบายที่สัญญากับประชาชนไว้ได้ และอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในระยะยาว คำถามต่อมาคือ ในอนาคต ผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้ง จำเป้นต้องมี สก. ของตัวเอง จึงจะสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวหรือไม่
ตั้งแต่มีการกำหนดให้มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา องค์กรที่เรามักเรียกกันว่าองค์กรอิสระ ก่อนจะมีการกำหนดชื่อให้อิสระ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมีอิสระนั้น องค์กรอิสระที่เราเห็นว่ามีอำนาจมากแทบจะเหนือฝ่ายการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนนั้น มีอำนาจมากกว่าที่เห็นในปัจจุบันเสียอีก สาเหตุก็มาจากการเมืองภาคประชาชนที่กำลังเบ่งบานในยุคสมัยนั้นมีความไม่ไว้วางใจนักการเมืองในระบบ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร แต่ในปัจจุบัน กลับกลายมาเป็นอาวุธที่ทิ่มแทงนักการเมืองที่เป็นตัวแทนที่ประชาชนไว้วางใจเสียเอง ไม่ว่าจะเป็น กกต หรือ วุฒิสภา ที่มีอำนาจและอิทธิพลในการกำหนดที่มาของกรรมการในองค์กรอิสระที่มีอำนาจชี้ขาดชีวิตทางการเมืองของนักการเมือง เราจึงอภิปรายกันในเรื่องขอบเขตอำนาจและความเหมาะสมขององค์กรเหล่านี้ในระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นกัน
วันนี้เราพูดถึงเรื่องการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นในระดับมหาวิทยาลัย หรือในระดับมัธยม ว่ามีการได้รับการสนับนุนจากรัฐมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงการเสียโอกาสของคนไม่ความรู้แต่ไม่มีทุนทรัพย์ ประกอบกับความจำป็นทางเศรษฐกิจ การเข้ามาของเสรีนิยมใหม่ ทำให้ต้องเกิดการลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายของรัฐต่าง ๆ กระทบกระเทือนถึงการศึกษา อันเป็นต้นทุนของประชากรในประเทศ เราจะทำอย่างไรให้ประชากรในประเทศมีคุณภาพต่อตลากแรงงาน ยังไม่สนับถึงคุณภาพชีวิตของผู้ที่ทำการสอน ครู หรืออาจารย์ ที่มีเงื่อนไขการจ้างงานที่ย่ำแย่
การเลือกตั้งในเยอรมนีในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชาชนในโลกที่เลือกตั้งพรรคการเมือง/นักการเมือง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมให้ขึ้นเป็นผู้นำ หากการเมืองแบบพรรคของเยอรมนีเป็นการเมืองที่เป็นตัวแทนของอุดมการณ์ทางการเมืองแล้ว พรรค AfD ซึ่งเป็นฝ่ายขวาสุดโต่ง หรือที่เรียกกันว่า Far-Right เป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่โดดเด่นเรื่องการต่อต้านผู้ลี้ภัย มีคะแนนสูงขึ้นเป็นอันดับสอง รองจากพรรค CDU/CSU ซึ่งเป็นพรรคขวากลาง ในเยอรมนี โดยคะแนนของพรรคอันดับหนึ่ง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ผิดกับ AfD การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นในชัดว่าประชาชนผู้เลือกตั้งในเยอรมนี อยู่ในเฉดขวามากกว่าซ้าย และมีแนวโน้มต้องการการตัดสินใจที่สุดขั้ว เด็ดขาด และรักษาผลประโยชน์ของคนในประเทศมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน คะแนนนิยมที่ลดลงของพรรคเสรีนิยมอย่าง FDP ได้แสดงให้เห็นถึงความนิยมที่ลดลงของอุดมการณ์เสรีนิยมในเยอรมนี แต่ขณะเดียวกันฝ่ายซ้ายสุดขั้วอย่างพรรค Die Linke ก็กลับได้คะแนนสูงขึ้นเช่นกัน ผลการเลือกตั้งนี้บอกอะไรเรา? ขณะที่การเมืองในสหรัฐฯ แม้ว่าคะแนนนิยมของทรัมป์จะสูง แต่การเข้ามามีอำนาจของมหาเศรษฐีอีลอน มัสก์ นั้นถูกมองว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ประกอบกับการถูกมองว่ามีความนิยมรัสเซียของทรัมป์ จะทำให้ความนิยมลดลงหรือไม่? หรือการขึ้นมามีอำนาจของ "ฝ่ายขวา" ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ?
วันนี้เราได้มาพูดคุยถึงชัยชนะของพรรคประชาชนใน จ.ลำพูน ในการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่ผ่านมา ทว่า สื่อหลายสำนักได้ให้ข่าวว่า ว่าที่นายก อบจ.ลำพูนจะมาจากบ้านใหญ่ แต่ influencers ของพรรคหลายท่านได้โต้ตอบว่า บ้านใหญ่ต้องดูที่พฤติกรรม ไม่ใช่นามสกุล เราจึงพามาชวนคุยว่า "ฤาการเมืองท้องถิ่น จะเป็นที่แบ่งผลประโยชน์ของบ้านใหญ่เท่านั้น" ตลอดจนเรื่องราวร้อนแรงของการเมืองระดับชาติ ที่มีการตัดไฟประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อยับยั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และผูกพันมาถึงเรื่องอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้าง entertainment complex ในประเทศไทย
ประชาธิปไตยทำให้สหรัฐฯ หันเหออกจากความช่วยเหลือระหว่างประเทศและหันมาให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของชาติมากขึ้น ส่งผลให้การค้าและพันธมิตรทั่วโลกได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ ตอนดังกล่าวยังกล่าวถึงประสิทธิภาพของระบบของอเมริกา ซึ่งประธานาธิบดีสามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงนโยบายได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากประเทศไทยที่ถูกขัดขวางด้วยระบบราชการที่หยั่งรากลึก นอกจากนี้ ตอนดังกล่าวยังเจาะลึกถึงผลกระทบระดับโลกจากนโยบายของทรัมป์ เช่น ความท้าทายต่อห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและองค์กรระหว่างประเทศ และศักยภาพในการปรับโครงสร้างใหม่ของโลก นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ลัทธิชาตินิยม ความท้าทายต่อความถูกต้องทางการเมือง และความสำคัญของเสรีภาพในการพูดในบริบทของโซเชียลมีเดียในภูมิทัศน์ทางการเมืองของสหรัฐฯ การสนทนายังเปรียบเทียบโครงสร้างทางการเมืองของสหรัฐฯ กับของประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งมีอำนาจอย่างมาก ตอนดังกล่าวจบลงด้วยการพิจารณาอนาคตของพลวัตของอำนาจระดับโลกและศักยภาพของประเทศอื่นๆ ในการคว้าโอกาสใหม่ๆ
Netflix จับมือ WWE บริษัทมวยปล้ำยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ ถ่ายทอดสดมวยปล้ำและยังนำบันทึกเทปเก่าๆ ให้ชมกันแบบไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ทำให้เรานึกถึงงานชิ้นหนึ่งของนักปรัชญาอย่างโรลอง บาร์ทส์ ชาวฝรั่งเศสที่ได้เคยเปรียบเทียบมวยปล้ำกับการเมือง ที่มักจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ฉายภาพออกมาเป็นฝ่ายธรรมะและอธรรม นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมเมื่อฝ่ายธรรมะหรืออธรรมได้เปรียบ เช่นเดียวกับอาการทางการเมืองไทยตอนนี้ ที่มีการแข่งขันหาเสียงเพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง อบจ. ทำให้เกิดการสร้างอารมณ์ร่วมทางการเมืองไม่แพ้มวยปล้ำ โดยเฉพาะสายปั่น สายแบก ที่ผลัดกันออกมาให้ข้อมูลในลักษณะข้อเท็จจริง (fact) และความจริง (truth) ทำให้การเมืองนั้นเข้มข้น แต่การเมืองที่เราจะเจอในปี 2025 นี้ จะมีผลลัพธ์ที่ดีต่อประชาชนและประเทศชาติมากน้อยแค่ไหน ยังคงต้องจับตามองต่อไป
ในตอนพิเศษก่อนเข้าสู่ปีใหม่ Democracy X Innovation ขอพาผู้ฟังไปสำรวจประเด็นที่ใกล้ตัวและมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเราทุกคนอย่างลึกซึ้ง นั่นคือ “บ้าน” ที่ไม่เพียงเป็นที่อยู่อาศัยหรือความฝันของใครหลายคน แต่ยังสะท้อนถึงระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน เริ่มจากภาระของการผ่อนบ้านในยุคที่ดอกเบี้ยสูงจนกระทบต่อความเป็นอยู่ของครอบครัวไทยทั่วไป และต่อยอดไปถึงการวิเคราะห์โครงการ “บ้านหลังแรก” และนโยบายใหม่ ๆ ที่รัฐพยายามผลักดันเพื่อลดภาระประชาชน แต่ในความพยายามเหล่านั้นกลับแฝงด้วยคำถามถึงความยั่งยืน ความเป็นธรรม และประโยชน์ที่แท้จริงของผู้ได้รับผลกระทบ ไม่เพียงแค่นั้น ชวนผู้ฟังสำรวจลึกถึงรากฐานของปัญหาที่ไม่เพียงหยุดอยู่ที่เรื่องบ้าน แต่สะท้อนถึงกลไกการเมืองและรัฐธรรมนูญที่อาจทำให้รัฐบาลไม่สามารถออกนโยบายที่มีประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่ การพูดคุยครอบคลุมตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทย การออกแบบระบบที่ดูเหมือนเอื้อให้เกิดความเป็นอิสระ แต่กลับกลายเป็นดาบสองคมที่สะท้อนกลับมาทำให้ระบบการเมืองอ่อนแอ และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง ปิดท้ายที่ตั้งคำถามถึงอนาคตของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย ทั้งในมิติของความหวังและความกังวล
ในตอนนี้ เราจะพาไปสู่ประเด็นการเมืองระดับโลกที่หลากหลาย ตั้งแต่บทวิเคราะห์การเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาและบทบาทของผู้นำอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สร้างกระแสในเรื่องชาตินิยมและการปกป้องผลประโยชน์ภายในประเทศ ไปจนถึงการวิพากษ์นโยบายของพรรคเดโมแครตที่หลายคนมองว่าสูญเสียจุดยืนเดิม การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและก้าวหน้า แต่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในความต้องการของประชาชนที่เน้นเรื่องปากท้องมากกว่าวาระอุดมคติ นอกจากนี้ เรายังเจาะลึกกรณีของเกาหลีใต้ที่สร้างบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับความเข้มแข็งของรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะกลไกการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สามารถหยุดยั้งการใช้อำนาจเกินขอบเขตได้ นี่เป็นตัวอย่างสำคัญที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้เพื่อเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ที่สถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง จะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มี และสามารถประคองคะแนนนิยมไปสู่การเลือกตั้งครั้งหน้าได้หรือไม่ รับฟังประเด็นที่เข้มข้นและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เจาะลึกได้ในตอนนี้!
มีรายงานว่า วัยรุ่น Gen Z นั้นมีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานประจำ เนื่องจากไม่ต้องการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่หัวหน้า ไม่ชอบการบังคับ และต้องการอิสระในการทำงาน และอาจมุ่งสู่อาชีพอิสระ เพราะต้องการ "ความเป็นอิสระในการทำงาน" ที่มากกว่าแต่ไม่สนใจ "ความมั่นคง" ในการทำงาน? เราจึงมาทบทวนว่า ในรอบวัฏจักรของการปฏิวัติอุตสาหกรรม [และเทคโนโลยี] ในรอบนี้ ทำให้การรับรู้และการใช้ชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ประกอบกับการลดลงของประชากร เนื่องจากวัยรุ่น Gen Z นั้นมีแนวโน้มที่จะสืบพันธุ์ลดลง ทำให้เกิดปัญหาประชากรในอนาคต มนุษย์จะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ประกอบกับหากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ จนต้องการมนุษย์น้อยลง จะทำให้มนุษย์ดำรงอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร หรือเฟสต่อไปของการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะไม่มีมนุษย์อยู่ในสมการ?
ในชั้นของกรรมาธิการ สว. (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ… ไม่เห็นด้วยกับร่างของ สส. ที่ต้องการให้เปลี่ยนกติกาการลงประชามติจากเสียงข้างมากสองชั้น (Double Majority) ไปเป็นเสียงข้างมากธรรมดา ทั้งที่มีการลงคะแนนให้แล้วในวาระ 1-2 ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เหตุใด การแก้ไข พรบ.ประชามติ ถึงมาล่มเอาตอนนี้ เนื่องจากมีการวาง timeline มาเป็นช่วงเวลาหนึ่งแล้ว และหากล่าช้า ก็จะทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ตามที่ได้มีการสัญญาเอาไว้ล่าช้าลงไปอีก ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการใช้ความไม่เป็นการเมือง (ซึ่งไม่แน่ใจว่าการพยายามไม่ให้ สว. มาจากกลุ่มทางการเมืองนั้นเป็นการไม่ต้องการให้ สว. เป็นนักการเมืองหรือไม่) เล่นการเมือง ทำให้ฝ่ายการเมืองนั้นไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ซ้ำการพยายามปิดไม่ให้เกิดการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายสำคัญที่มีผลให้ความเป็นไปทางการเมืองเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นสัญญาณปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคตหรือไม่
ช่วงนี้เงินบาทแข็งค่ามาก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพราะผลกระทบจากสถานการณ์โลกหรืออย่างไร แต่แน่นอนว่ามีคนได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบ ฟากฝั่งรัฐบาลเห็นว่าควรลดค่าเงินบาท ให้การส่งออกดีขึ้น ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าคงไว้ได้ จึงเกิดเป็นวาทะที่ต่างวาระกันผ่านสื่อของทั่งสองฝั่ง ทำให้เกิดการถกเถียงว่า การเพิ่มหรือลดค่าเงินบาทนั้นดีกว่ากัน มากไปกว่านั้น นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่องค์กรในลักษณะที่เป็น “อิสระ” มีอำนาจมากในการคานกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นี่จะเป็นข้อดีหรือข้อเสียกันแน่ เพราะผลประโยชน์ของประชาชนนั้นเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในลักษณะนี้ไม่มากก็น้อย ขณะเดียวกัน เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยเลือกที่จะถอยในเรื่องการแก้ไขในจริยธรรมเนื่องจากพรรคร่วมไม่เห็นด้วย และให้เหตุผลว่า ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเราได้อภิปรายถึงเรื่องการชั่งน้ำหนักของการนำเรื่องจริยธรรมมาเป็นกฎหมาย แล้วสุดท้ายเกิดความสะดุดลงโดยการหลุดจากตำแหน่ง ก็จะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ได้ด้วยเช่นกัน
สภาได้มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ของทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสังคมไทยมากขึ้น เราจึงมาชวนคุยเรื่องอัตลักษณ์รัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญกับบริบททางสังคมของประเทศต่าง ๆ ว่าเหตุใดกฎหมายจึงเป็นผลผลิตของสังคมนั้น ๆ
จากการที่มีการโปรดเกล้าฯ ครม. ของนายกฯแพทองธาร แล้ว ซึ่งเป็นการตั้ง ครม. ตามเอกสิทธิ์ของนายกฯ ที่ต้องระมัดระวังในการตั้งคนที่มีคุณสมบัติไม่ครบ จึงต้องเปลี่ยนมาตั้งบุคคลอื่น แต่บุคคลอื่นเหล่านั้น ดันมีนามสกุลที่คล้ายกับนักการเมืองรุ่นก่อน จนเกิดกระแสที่กล่าวว่า เป็น ครม. สืบสันดาน แต่แล้ว ครม.สืบสันดานนั้น จะเป็นวาทะ คล้ายกับ "สภาผัวเมีย" หรือ "เผด็จการรัฐสภา" ในอดีตหรือไม่ จนเป็นวาทะเด็ดในการโค่นล้มและลดความชอบธรรมให้กับระบอบประชาธิปไตยตัวแทน จนเรียกร้องระบอบรัฐธรรมนูญ เหมือนที่เคยผ่านมาในอดีตในปี 2549 และ 2557 หรือไม่?
ผ่านไปแล้วกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ได้นายกฯอุ๊งอิ๊ง เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ และการถูกโจมตีจากสินค้าราคาถูกจากจีน นายกฯมีแผนจะแก้ปัญหาอย่างไร มากไปกว่านั้น ครม. ใหม่ ที่ดูจะเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างร้อนแรง กระแสการเทียบเชิญ-ขับออก จากพรรคร่วมฯ จะสั่นสะเทือนเพียงใด จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงการล้างแค้นทางการเมือง สุดท้าย นโยบายการสร้าง Entertainment Complex ที่ดูจะเป็นการดึงดูดการท่องเที่ยวและการลงทุนในไทย จะพาไทยไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของนักวิชาการต่าง ๆ ประกอบกับการพัฒนาประเทศตามวิสัยทัศน์ของอดีตนายกฯ จะทำให้ไทยรอดพ้นวิกฤตข้างต้น ได้อย่างไร
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นายกรัฐมนตรีสามารถพ้นจากตำแหน่งได้ด้วยกรณีจริยธรรมในการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ขาดคุณสมบัติ คำถามต่อมาคือ นายกรัฐมนตรี ที่อย่างน้อย มีเสียงสนับสนุนจากประชาชนนับล้านเสียง สามารถพ้นจากตำแหน่งได้ง่าย ๆ เพียงเท่านี้เลยหรือ? คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญย้อนหลัง ในการพ้นตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ก็เป็นที่ประจักษ์ ว่าไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต่างจากการยุบพรรคการเมือง เหตุการณ์ดังกล่าว จึงควรต้องกลับมาพิจารณา ถึงบทบาทและอำนาจขององค์กรอิสระ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ว่าควรจะมีเพียงใด เพื่อให้สมดุลกับการปกครองที่ควรจะได้ชื่อว่า เป็นประชาธิปไตย
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ทำให้นอกจากที่นั่ง สส. ในรัฐสภาเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังมีผลพวงที่ตามมาหลายอย่างมาก เช่น ความเป็นไปได้ของ สส. ในการย้ายพรรค แนวทางการดำเนินงานภายใต้งานที่ รองประธานฯ ที่สิ้นสุดสมาชิกภาพต่อ หรือจะเป็นการโหวตเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต รวมไปถึง พรบ.ประชามติ และการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมีกรณ๊ของนายกรัฐมนตรี ที่จะมีการตัดสินในวันที่ 14 สค. นี้ ว่าจะพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ การเมืองไทย จะเข้าสู่จุดเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังจากสัปดาห์หน้า หรือไม่...
ที่ผ่านมาเพิ่งมีการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรไป ซึ่งเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของพรรคแรงงาน นับเป็นการได้รับชัยชนะแบบ landslide ในรอบหลายปี.เป็นที่น่าสนใจว่า การเปลี่ยนขั้วครั้งนี้ เป็นเรื่องของอุดมการณ์หรือแค่เบื่อจึงเปลี่ยนพรรคการเมือง ประกอบกับการใช้เวลาอันสั้น เพียงหลังจากการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วันและได้รัฐบาลใหม่ การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด และมีการลอบยิงกัน และการเลือกตั้งในฝรั่งเศสที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากไม่มีฝ่ายใดได้รับคะแนนสูงสุด จากนั้นจึงมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ว่าทำไมการเลือกตั้งของเราจึงออกมาหน้าตาแบบนี้
การเลือก สว. ของไทยเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญได้สิ้นสุดลงแล้ว หน้าตาของว่าที่ สว. ชุดใหม่ทั้ง 200 ท่าน ก็ได้ผ่านหน้าสื่อกันไปแล้ว ทว่า มีถึง 12 จังหวัด ที่ไม่มี สว. เลย แต่มีบางจังหวัด ที่มีจำนวน สว. มากถึง 14 ท่าน! ระบบการเลือกในลักษณะนี้ มีการออกแบบอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับอำเภอ แต่เปิดโอกาสให้ท้ายที่สุดไม่จำเป็นต้องครอบคลุมพื้นที่ก็ได้? จึงเกิดคำถามตามมาว่า กติกาการเลือกแบบนี้ ทำให้ สว. เป็นตัวแทนใคร? รวมถึงเอกสารปกขาว ที่ทางสถาบันพระปกเกล้าได้รวบรวมจากการลงพื้นที่รับฟังเสียงประชาชนร่วมกับ TPBS ว่าประชาชนต้องการและอยากฝากให้ สว. ทำหน้าที่อย่างไร ซึ่งจะเปิดตัวในวันปฐมนิเทศ สว. ที่จะถึงนี้เช่นกัน
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญขึ้นหลายอย่าง ตั้งแต่การมีร่าง แก้ไข พรบ.ประชามติเข้าสภา แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรบ.งบประมาณรายจ่าย คดีสำคัญของนักการเมือง และคดียุบพรรคก้าวไกล และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดงานสัมมนา “ ทางออกประชามติ ปูทางสู่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ” ที่มีการปภิปรายถึงแนวทางและเนื้อหาของ พรบ. ประชามติที่ควรจะเป็น เพื่อจะเป็นประตูเปิดไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตอันใกล้ รวมถึงให้ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด หรือ "as good as it gets" ของการเมืองไทยในอีก 3-4 ปีข้างหน้า เราจึงมาพูดคุยถึงจุดนี้กัน
สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญฯ 60 ได้หมดวาระไปเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ต้องเกิดการ "เลือก" สว. ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ แต่ทว่า การเลือกนั้น มีความซับซ้อนพอสมควร และเป็นการออกแบบมาเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับการเลือกตั้ง สส. และให้มีการเลือกกันเองจาก 20 กลุ่มทางสังคม จากทุกอำเภอ นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม เพื่อให้ สว. ที่ได้มานั้น ทำตามเจตจำนงของประชาชน เพื่อให้การทำงานของรัฐสภามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เนื่องจาก สว. นั้นมีอำนาจในการลงมติรับรององค์กรอิสระ ที่มีอำนาจในการตรวจสอบรัฐบาลนั่นเอง เราจึงจะมาวิเคราะห์และพูดคุยกันในเรื่อง สว. ใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญกัน
หลังสงกรานต์เราได้ ครม. ใหม่ แต่แล้วก็เกิดแผ่นดินไหว เมื่อมีรัฐมนตรีบางท่านยื่นจดหมายลาออกฟ้าผ่า ทำให้เราลองไปดูงานที่ผ่านมาของกระทรวงการต่างประเทศ ประกอบกับ วิกฤตการรบในเขตชายแดนพม่าในฝั่งตะวันตก ที่เป็นเขตที่มีทุนสีเทาเข้าไปปฏิบัติการ และเป็นที่มาของธุรกิจสีเทา นำมาซึ่งการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อน แรงงานทาส และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และเมื่อย้อนกลับมาดูที่ประเทศเรา ที่การส่งออกมีปัญหา เสียดุลการค้าให้ประเทศอื่น ๆ การลงทุนและการผลิตในประเทศหดหาย ทำให้เงินทุนในประเทศน้อยลง และอาจเป็นที่มาให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศแย่ลง เช่น เกิดการลดสวัสดิการ เงินเดือน/ค่าจ้าง ต่ำลง เพราะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ได้ด้วยแค่เงินทุนสีเทาที่คนนอกเอามาฟอก นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของ ครม ชุดใหม่ และรัฐบาล ว่าไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหา แต่จะ "สร้าง" ประเทศไทยให้เข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร
เรื่องจริยธรรมของนักการเมือง การเปรียบเทียบและแชร์ประสบการณ์การใช้กฎหมายและข้อบังคับในการควบคุมสมาชิกรัฐสภา โดยใช้กลไกในสภาเอง เพื่อป้องกันการแทรกแทรงจากหน่วยงานภายนอก แต่กลับกัน การใช้กลไกเหล่านี้ในรัฐสภาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ประมวลจริยธรรมฯ นั้น อาจเป็นที่มาของการใช้กลไกนี้ในการลงโทษทางการเมืองต่อฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยถึงสัญญะของการแต่งกายของนักการเมืองและสมาชิก ว่ามีผลต่อภาพลักษณ์ภายนอก และคะแนนนิยมหรือไม่อย่างไร
นายกรัฐมนตรีเดินกลางกรุงปารีส พันผ้าพันคอจากผ้าขาวม้า เดินหน้าลุยนำผลิตภัณฑ์จากไทยไปขายต่างประเทศ ถือเป็นการผลักดันสินค้าจาก soft power ไทย สู่สายตาชาวโลก นับเป็นเรื่องที่ดี ที่ไม่แม้เผยแพร่ "สไตล์" ผ้าแบบไทย แต่ยังส่งเสริมการส่งออกจากไทยอีกด้วย เราจึงลองไปสำรวจอุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลก ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และสามารถสร้างกำไรมหาศาลได้อย่างไร และการผลิตของประเทศไทยสามารถอยู่ตรงไหนในเศรษฐกิจโลกได้บ้าง เพราะหากเน้นแต่ "สไตล์" แต่ขาดการมองเรื่อง "ฐานการผลิต" และ "รายได้ของประเทศ" ก็หวั่นอาจซ้ำรอย กางเกงช้าง ที่ถูกนำไปผลิตในจีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ไทยไม่เหลือรายได้เข้าประเทศ เป็นเพียงทางผ่านทางวัฒนธรรมเท่านั้น
วันนี้เราได้มีแขกรับเชิญที่เพิ่งได้ไปท่องเที่ยวผจญภัยในอินเดียถึง 5 เมือง ซึ่งมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทั้งการเดินทาง การกิน การเที่ยว ไปจนถึงการเผาศพ จากการที่เห็น เราจึงเห็นได้ว่ายังมีอีกมุมหนึ่งของโลกที่มีความแตกต่างกับเรา และเรายังสามารถเห็นได้ว่าความแตกต่างนั้น เกิดจากปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจหรืออื่น ๆ อย่างไร
นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์พัฒนายกระดับประเทศ IGNITE THAILAND เมื่อสัปดาห์ก่อน และยังจะได้มีการนำเสนอเป็นซีรี่ย์ในแต่ละประเด็นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ประเทศไทยเป็น tourism hub, wellness hub, aviation hub หรือ financial centre ซึ่งเราจะเห็นว่าวิสัยทัศน์ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นเสรีนิยมใหม่ในแนวทางการรวมศูนย์ คือเป็นการใช้การแทรกแซงโดยรัฐมากำหนดการพัฒนาระบบต่าง ๆ ของประเทศออกจากศูนย์กลาง แต่ขณะเดียวกัน เมื่อสำรวจจากข้อวิจารณ์ของฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล จะเห็นได้ว่าเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยจากฐานราก จากการกระจายอำนาจและเป็นการส่งเสริมทุนย่อยให้สู้กับทุนใหญ่ได้ ความแตกต่างระหว่างสองสิ่งนี้อย่างไรก็ดียังวางอยู่บนฐานคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งแบบไหนจะเป็นผลดีต่อประเทศโดยรวมต้องลองไปดู
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็น "ผลข้างเคียง" ของรัฐธรรมนูญ 40 เป็นต้นมา กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้น เกิดผลข้างเคียงในลักษณะ "human error" หรือไม่ หรือเป็นการใช้ช่องทางกฎหมายในการเล่นงานคู่ต่อสู้ทางการเมือง ประเด็นที่ชัดเจนที่สุดคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องเองต่อองค์กรอิสระได้ และคำร้องนั้นสามารถนำมาซึ่งการยุบพรรค หรือปลดนายกรัฐมนตรีได้ในเวลาต่อมา ทำให้เกิดอาชีพ "นักร้อง" ขึ้น หรือเป็นเพราะต้นกำเนิดของรัฐธรรมนูญ 40 ต้องการให้เกิดการตรวจสอบจากภายนอก จึงต้องมีหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐ ตามสมัยนิยมของอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ ที่ต้องการให้ลดขนาดของรัฐ แต่องค์กรดังกล่าวนั้น มีความสัมพันธ์กับรัฐมากแค่ไหน และสรุปแล้ว เสียงของประชาชนที่เลือกพรรคการเมือง กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กับองค์กรอิสระที่ตรวจสอบ อำนาจเป็นของใคร?
จากประสบการณ์ที่ไปอบรมที่สิงคโปร์มา 1 สัปดาห์ จึงถือโอกาสเล่าพัฒนาการของสิงคโปร์จากที่เป็นประเทศที่ถูกแยกตัวออกจากมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่จนและด้อยพัฒนา ว่ากลายมาเป็นประเทศที่เจริญขึ้นในเวลาเพียงไม่ถึงครึ่งศตวรรษได้อย่างไร สิงคโปร์นั้นเริ่มจากเป็นประเทศที่ใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลัก จากนั้นเติบโตขึ้นจากการสร้างความเชื่อมั่นและการลงทุนจากต่างชาติ จนพัฒนาอุตสาหกรรม 4 ระดับ การรักษาความสมดุลระหว่างสหรัฐฯและจีน ขณะเดียวกันก็รักษาผลประโยชน์ของประเทศตัวเองไว้ได้ จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า นอกจากลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์และประชากรแล้ว สิงคโปร์ยังมีคติอย่างหนึ่งคือการหาวิธีการ “เอาตัวรอด” จากวิกฤติ มาเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนา จึงนำมาเล่าสู่กันฟังถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม การบริหาร ว่าทำให้สิงคโปร์มาถึงจุดนี้ได้เร็วขนาดนี้ได้อย่างไร
สำนักนวัตกรรมกำลังจะทำแพลตฟอร์มรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่าง/ตรากฎหมายออนไลน์ ทำให้เราได้หยิบยกกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังจะถูกเสนอเข้าสภามาพูดคุยกัน ว่าความเป็นมาและหลักการของการนิรโทษกรรมในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร มีความน่าสนใจและจะนำประเทศไทยไปสู่จุดไหน ประกอบกับกิจกรรมทางการเมืองที่ผ่านมาและอาจเกิดขึ้นในอนาคต
จากการย้ายวันหยุดปีใหม่ จาก 2 ม.ค. เป็น 29 ธ.ค. มีกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นอย่างมาก ปัญหารถติดเชื่อมโยงไปยังหลายปัญหาที่เรื้อรังสังคมไทยมายาวนาน ว่าจะเป็นบทพิสูจน์ให้กับรัฐบาลว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ ประกอบกับนโยบายคืนภาษีที่ต้องใช้ e-receipt ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีแต่ยังไม่ได้สื่อสารชัดเจนมากนัก และศึกอภิปรายงบประมาณที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำให้รัฐบาลสามารถฝ่าวิกฤตมรสุมไปได้หรือไม่
เป็นเวลากว่า 50 ปี ณ จากครั้งสุดท้ายที่มนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีการเสนอให้นำคนกลับขึ้นไปบนนั้น แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป กระทั่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ดวงจันทร์กลับมาเป็นเป้าหมายที่นานาประเทศต่างอยากจะไปให้ถึง ทำไมดวงจันทร์ที่ดูห่างไกล จึงกลายเป็นเป้าหมายที่นานาชาติต่างอยากจะไปอีกครั้งหลังจากที่เงียบหายมานาน อะไรที่ดึงดูดให้ใคร ๆ ต่างก็อยากไปดวงจันทร์
เป็นเรื่องที่เป็น talk of the town ของวงการการเมือง ที่พรรคประชาธิปัตย์มีการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งใหญ่ ที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่สำคัญของพรรค เราจึงมาพูดคุยกันในกรณีพรรคประชาธิปัตย์ ถึงการเป็นสถาบันทางการเมือง และความเป็นสถาบันของพรรคนี้ แตกต่างกับพรรคอื่นอย่างไร รวมถึงความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากปรับโครงสร้างแล้ว
เมื่อเวียนมาพบหน้าหนาว ประเทศไทยของเราก็กลับมาพบกับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 อีกเช่นเคย ซึ่งเป็นปัญหาที่มีนักวิชาการและนักวิเคราะห์หลายท่านกล่าวไว้ว่ามีความเชื่อมโยงกับการเพาะปลูกอ้อย เนื่องจากมีการเผาเพื่อเก็บเกี่ยว ทำให้เกิดฝุ่นควัน และเมื่อไปค้นดูประเทศที่ส่งออกอ้อยเพื่อน้ำตาลสดสูงสุด ก็คือบราซิล ซึ่งมีรายงานว่าเกิด PM2.5 สูง และมีผลต่อการมีชีวิตที่สั้นลงของชาวบราซิลจริง .เราจึงมาพูดคุยว่า ปัญหา PM2.5 ที่เกิดจากทำเกษตรเพื่อส่งออกประเทศโลกที่ 1 จากประเทศโลกที่ 3 นั้น เป็นปัญหาการขูดแรงแรงงานราคาถูกผ่านทุนใหญ่ในประเทศซึ่งเป็นนายหน้ารับงาน และมีความจำเป็นต้องกดราคาต้นทุนทางการผลิตที่ต่ำ ทำให้ไม่มีการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ และจะต้องแก้ไขอย่างไร
เป็นประเด็นที่ร้อนแรงในสังคมกับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ว่าฝ่ายที่ไม่อยากให้แจก ต้องการชี้ให้เห็นว่าสามารถนำเงินไปทำอะไรอย่างอื่นได้บ้าง เช่น คุณธนาธร ตัวแทนภาคประชาสังคมที่ชี้ให้เห็นว่าสามารถนำเงินที่มีอยู่ ไปทำเป็นสวัสดิการในด้านต่าง ๆ เช่น น้ำประปา ถนน ขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ได้ หากมีการใช้เงินให้เป็นประโยชน์ และโยกในส่วนที่ไม่จำเป็นได้ แต่ปัญหาคือ สิ่งเหล่านี้มันเป็นจริงได้มากแค่ไหน ความสามารถของ "รัฐบาล" จะมีอำนาจต่อรองกับ "รัฐ" ได้มากแค่ไหนในการโยกย้ายเงิน ความเป็นจริงของรัฐ จะสามารถขจัดอุปสรรคเหล่านี้ได้มากแค่ไหน หากมองในแง่ของความเป็น "รัฐ" ที่อยู่เหนือ "รัฐบาล"
สถานการณ์การท่องเที่ยวกับประเทศฟรีวีซ่าเริ่มสั่นคลอน เนื่องจากตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวไทยที่สำคัญที่หนึ่ง ได้มีการปฏิเสธไม่ให้นักท่องเที่ยวของไทยเข้าประเทศ หลังจากเดินทางไปถึงที่สนามบินแล้ว เนื่องมาจากปัญหา “ผีน้อย” หรือผู้หลบหนีเข้าทำงานที่เกาหลีใต้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาล ประกอบกับบทบาทของรัฐบาลในตอนนี้ ที่ดูจะเป็นที่ไม่พอใจของสื่อ และภาคประชาสังคมที่รุมรัฐบาลในทุก ๆ เรื่อง รัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหานี้และฝ่าวิกฤตต่าง ๆ ไปได้หรือไม่ เราจะมาคุยกัน
จากกรณีที่มีการกล่าวว่าล่วงละเมิดทางเพศอยู่บ่อยครั้ง วันนี้เราจึงมาคุยกันว่า แค่ไหนถึงเรียกว่าล่วงละเมิดทางเพศ และผู้ถูกกระทำเอาตัวเองไปเสี่ยงหรือผู้กระทำฉวยโอกาสเองหรือไม่ รวมถึงประเด็นกรณีที่ว่าการล่วงละเมิดนั้นมีความเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร
รัฐบาลใหม่ มีอายุได้ราว 2 เดือนแล้ว มีอะไรใหม่ อะไรคืบหน้า อะไรยังเหมือนเดิม วันนี้เราจะมารีวิวกัน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลเศรษฐา 1 นั้น ไม่มีช่วงเวลาที่เรียกว่าฮันนีมูน หากจะเปรียบเทียบกับผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ชัชชาติ ที่มีช่วงเวลาในการร้องเล่นเต้นไปกับประชาชนตอนได้รับตำแหน่งใหม่ๆ นายกเศรษฐากลับโดนรับน้องด้วยเหตุการณ์ที่ยากลำบากมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ยิงฯ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจหลังโควิด แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้าง และรัฐบาลเองก็ยิ้มสู้อย่างเต็มที่ แต่นั่น มันเพียงพอหรือยังกับรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่มาแทนที่รัฐบาลของลุง เราจะมาลองมารีวิวกัน
เมื่อมีประเด็นถกเถียงกันว่า รัฐบาลไทยควรประนามต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะบ้างกังวลว่าจะทำให้กลุ่มผู้ก่อการสังหารชาวไทยที่จับไว้เป็นตัวประกันมากกว่าเดิม จึงเกิดคำถามขึ้นในฐานะที่รัฐบาลไทยในเวทีโลก ควรจะแสดงท่าทีหรือไม่ และแสดงแล้ว จะต้องแสดงอย่างไร ให้เหมาะสมหรือ จะทำให้บรรลุวาระของรัฐบาลได้อย่างไร และเหตุการณ์ดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อการโมงในประเทศอย่างไร
หลังจากการแถลงนโยบายของรัฐบาลเสร็จสิ้น จึงเกิดคำถามและข้อกังขามากมายว่ารัฐบาลจะสามารถทำตามนโยบายที่ให้ไว้ต่อสภาได้หรือไม่ ยังไม่นับข้อกังขาที่บางพรรคการเมืองนำสิ่งที่พรรครัฐบาลหาเสียงมาเปรียบเทียบกับนโยบายที่รัฐบาลแถลง ว่าไม่ตรงกัน อย่างไรก็ดี วันนี้เราจึงนำเสนอประวัติทางการเมืองอย่างย่อของรัฐมนตรีสามท่านที่น่าสนใจ คือ ปานปรีย์ พหิทธานุกร สมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อให้เห็นภาพของเส้นทางการเมืองและความเชื่อมั่นในการทำตามนโยบายของรัฐบาล
หลังจากได้รัฐบาลใหม่ที่สมบูรณ์ เหลือเพียงแต่การแถลงนโยบายต่อสภา ได้มีการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายในการทำก่อนหลัง จึงต้องจับตามองว่าในบริบทของรัฐบาลผสม จะสามารถทำตามนโยบายที่สัญญาไว้ได้มากแค่ไหน ประกอบกับฝ่ายค้านที่ยังไม่มีตัวผู้นำ ไม่ได้หมายถึงผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แต่หมายถึงผู้นำที่สามารถเป็นตัวแทนของสมาชิกฝ่ายค้านเป็นกลุ่มก้อนที่สามารถจะตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างเป็นเอกภาพ นี่ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายของการเมืองไทยในยุคสมัยสภานี้
จากการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบ "เศรษฐา ทวีสิน" เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นั่นก็ทำให้มีเสียงจำนวนมาก เรียกเศรษฐาว่าไม่ใช่นายกที่มาจากการเลือกของประชาชน แต่เป็นเพราะเหตุใดกันแน่ เพราะไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายกจากพรรคอันดับที่ 1 หรือเป็นเพราะพรรคเพื่อไทยนั้นจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว วันนี้เราจะมาพูดคุยกันในประเด็นนี้